โลกาภิวัตน์ (Globalization) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ กระแสความนิยมที่เป็นผลมาจากการเสพสื่อและการอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งแฟชั่น (Fashion) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยในแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัยก็จะมีวิธีการหรือสไตล์ในการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมนั้น ๆ แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น มีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและมีรูปแบบการแต่งกายที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทำให้เกิดเป็น “กระแสฟาสต์แฟชั่น” (Fast Fashion) โดยฟาสต์แฟชั่นเป็นธุรกิจที่เน้นการขายเสื้อผ้าราคาถูก มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นแต่สวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งและซื้อใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ฟาสต์แฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างมากมายเช่นเดียวกัน
อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเติบโตอย่างน่าทึ่งในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ซึ่งส่งผลต่อความต้องการในการบริโภคเสื้อผ้าที่มาจากกระบวนการฟาสต์แฟชั่นของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รายงานของ United Nations Economic Commission for Europe (UNECE) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการสร้างงานมากกว่า 75 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อัตราการบริโภคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นในอนาคตจะขยายตัวกว้างมากขึ้นในตลาดเสื้อผ้า เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างดี มีความทันสมัย และที่สำคัญ คือ มีราคาถูก
ฟาสต์แฟชั่นกำลังกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งแบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นที่มีสาขามากมายอย่าง H&M และ Zara จะสามารถพบเห็นได้ตามถนนคนเดินหรือย่านธุรกิจเกือบทุกประเทศ เพราะแบรนด์เหล่านี้จะมีราคาและโปรโมชันที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน และมีแบรนด์สัญชาติไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกในภูมิภาคและสามารถสร้างกำไรได้มหาศาลอย่าง POMELO JASPAL LYN เป็นต้น
แต่เบื้องหลังของอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เพราะอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมของโลกมากมาย ทั้งเรื่องการใช้ฝ้ายในการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งฝ้ายเป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้น้ำมากถึง 7,000-29,000 ลิตรในการผลิตฝ้ายหนึ่งกิโลกรัม นอกจากการใช้ฝ้ายในกระบวนการผลิตฟาสต์แฟชั่นที่มีปริมาณมากแล้ว ยังมีการใช้เส้นใยสังเคราะห์ เช่น Polyester Nylon Spandex ซึ่งเส้นใยสังเคราะห์เหล่านี้ต้องใช้น้ำมันเกือบ 342 ล้านบาร์เรลต่อปีในการผลิต โดยพบว่าร้อยละ 35 ของไมโครพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลมาจากเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งการผลิตเสื้อผ้าใหม่หลายพันล้านชิ้นต่อปี สามารถสร้างขยะจำนวนมหาศาล
……..นอกจากนี้ รายงานของ United Nations Development Programme (UNDP) เผยว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลกมากกว่าร้อยละ 8 ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศและการขนส่งทางทะเลทั้งหมดรวมกันเสียอีก จึงกล่าวได้ว่า ฟาสต์แฟชั่นเป็นภัยฉุกเฉินอย่างมากต่อการคุกคามสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นสูง การปล่อยน้ำเสีย ตลอดจนการสร้างขยะ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงหลังการบริโภค
อิทธิพลของกระแสการบริโภคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นน่าจะยังมีเพิ่มมากขึ้นในสังคม แต่เมื่อเห็นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ก็คงต้องฝากให้ตระหนักถึงแนวทางที่จะช่วยกันลดการทำลายธรรมชาติลง หรืออย่างน้อยที่สุด คือ “การบริโภคสินค้าแฟชั่นที่มีความยั่งยืน” หรือ “Slow Fashion” ด้วยการมีความรับผิดชอบในการบริโภคเสื้อผ้าอย่างมีจริยธรรม (Ethical) ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้มาจากการเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง อาทิ การใช้เสื้อผ้าซ้ำหรือเสื้อผ้าที่ผลิตมาจากกระบวนการหมุนเวียน ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคเสื้อผ้ามือสอง เสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเสื้อผ้าที่มีแบบที่ใช้งานได้บ่อย รึมีดีไซน์คลาสสิก คือตระหนักถึงประโยชน์เป็นสำคัญ ทำให้การแต่งกายได้กลายเป็นการสร้างสรรค์วิถีชีวิตบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีขึ้นได้เช่นกัน