ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะจำนวนมากและรอบล้อมด้วยมหาสมุทร รวมทั้งทะเล ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์เช่นนี้ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยและการบริหารจัดการทรัพยากรในทะเลอย่างมาก โดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทบริเวณทะเลจีนใต้ เนื่องจากมีน่านน้ำหลายส่วนที่ติดอยู่กับอาณาเขตของฟิลิปปินส์ รัฐบาลทุกยุคสมัยของประเทศนี้จึงไม่เคยละทิ้งความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติที่อยู่ในทะเล เพราะผลประโยชน์เหล่านี้เชื่อมโยงกับบูรณภาพแห่งดินแดน ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ฟิลิปปินส์ได้ผลักดันร่างกฎหมายชื่อว่า Maritime Zones Act เพื่อกำหนดอาณาเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์ให้ชัดเจนขึ้น ทั้งน่านน้ำภายใน (internal waters) น่านน้ำหมู่เกาะ (archipelagic waters) ของรัฐหมู่เกาะน่านน้ำอาณาเขต (territorial waters) เขตต่อเนื่อง (contiguous zone) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) และไหล่ทวีป (Continental Shelf) การผลักดันกฎหมายนี้เริ่มต้นตั้งแต่พฤษภาคม 2566 และเมื่อต้น มีนาคม 2567 วุฒิสภาของฟิลิปปินส์ได้เห็นชอบผ่านไปแล้ว แปลว่ากฎหมายนี้มีโอกาสบังคับใช้ได้ในอีกไม่นาน
การจัดทำกฎหมาย Maritime Zones Act ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ฟิลิปปินส์อยู่ดี ๆ ก็จัดทำขึ้นมา เพราะกฎหมายในลักษณะเดียวกันและชื่อเดียวกันนี้เคยถูกจัดทำขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เพราะต้องการใช้กฎหมายหรือเอกสารนี้เป็นใบรับรองสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญมาโดยตลอด เพราะพื้นที่ทางทะเลประกอบด้วยทรัพยากรแบบมีชีวิตและไม่มีชีวิต และยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวและนันทนาการ การขนส่ง การสำรวจพลังงาน การประมง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเล
……ดังนั้น ทะเลจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศต่าง ๆ มากถึงขั้นนานาชาติมีการรวมตัวกันเพื่อจัดทำกฎระเบียบร่วมกันเพื่อใช้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ส่วนการทำกฎหมาย Maritime Zones Act มีตัวอย่าง เช่น ประเทศปาปัวนิวกินี แอฟริกาใต้ และอินเดียเป็นต้น โดยเป็นที่รู้กันว่าประเทศต่าง ๆ ที่มีอาณาเขตติดทะเลมีสิทธิจัดทำกฎหมายนี้เพื่อสร้างอาณาเขตทางทะเลให้มีความชัดเจน
ฟิลิปปินส์ยืนยันว่าการจัดทำ Maritime Zones Act ของเขานี้เป็นไปตามหลักการระหว่างประเทศอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS (United Nations Convention on the Law of the Sea)ที่ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบันร่วมกับหลายประเทศทั่วโลก เท่ากับว่ากฎหมายในประเทศของฟิลิปปินส์ฉบับนี้ไม่ได้ย้อนแย้งหรือขัดกับหลักการระหว่างประเทศ และยังสะท้อนว่าปัจจุบันฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลมากขึ้น
…..ซึ่งอาจเป็นเพราะในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลจากการ “เกือบ” เผชิญหน้าทางการทหารกับจีนบ่อยครั้ง และหลายครั้งที่เกิดการยั่วยุทางทหารระหว่างกันในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก…ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่ฝ่ายฟิลิปปินส์จะเผชิญอันตรายมากขึ้น เพราะจีนมาพร้อมทั้งปืนแรงดันน้ำ และเลเซอร์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางทะเลของกองเรือฟิลิปปินส์ในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้
ฟิลิปปินส์น่าจะใช้ประโยชน์จากกฎหมาย Maritime Zones Act สนับสนุนการเพิ่มความเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้จีนไม่พอใจ เพราะมองว่าฟิลิปปินส์จะใช้กฎหมายนี้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของจีน และทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ตึงเครียดมากขึ้น
ที่สำคัญ จีนเชื่อว่าฟิลิปปินส์จะใช้กฎหมายนี้อ้างความชอบธรรมเพื่อมีสิทธิ์ในพื้นที่พิพาท โดยอ้างคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ปี 2559 ที่ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะจีน เพราะคำตัดสินในตอนนั้น นอกจากจะบอกว่าข้ออ้างเรื่องสิทธิทางประวัติศาสตร์ของจีนเหนือเขตแดนในทะเลจีนใต้ ตามที่ปรากฏในแผนที่เส้นประ 9 เส้น (Nine-Dash Line) นั้นไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายแล้ว ยังชี้ว่า ทะเลบางส่วนที่มีข้อพิพาทถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ เพราะเมื่อบริเวณในหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่จีนอ้างว่าครอบครองนั้นไม่สามารถมีเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ ทะเลที่จีนมีสิทธิใช้ทรัพยากรจึงสั้นลง และไม่ทับซ้อนกับทะเลที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
จีนเรียกวิธีการของฟิลิปปินส์ที่ออกกฎหมาย Maritime Zones Act ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องผิดกฎหมาย กลายเป็นถูก ด้วยการรับรองจากกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและอธิปไตยของจีน
กับอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้จีนไม่พอใจมาก ๆ คาดว่าอาจมาจากความกังวลว่าฟิลิปปินส์จะอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปเคลื่อนไหวแสดงแสนยานุภาพในทะเลจีนใต้ได้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ ผู้นำฟิลิปปินส์ขยายความร่วมมือกับอเมริกาหลากหลายด้าน ที่จีนมองว่าเป็นความท้าทายมากที่สุดน่าจะเป็นการให้อเมริกาเข้าไปใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น
จากเหตุการณ์ครั้งนี้คงทำให้ประเมินได้ว่า แนวโน้มสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ จากความเคลื่อนไหวของฟิลิปปินส์และจีนจะรุนแรงขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างงัดทุกกลยุทธ์ออกมาเพื่อใช้เสริมสร้างความชอบธรรมและสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในทะเล และพัฒนาการด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้ก็จะยังคงเป็นประเด็นร้อนของภูมิภาคเอเชียต่อไป.