……ในโลกที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการแข่งขันของมหาอำนาจ เทคโนโลยี ภาวะโลกรวน และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความยากต่อการคาดเดา มีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างกัน และมีพลวัตสูง ส่งผลให้หลายฝ่ายพยายามจะหารูปแบบหรือคำจำกัดความที่สะดวกต่อการเริ่มต้นทำความเข้าใจโลกในลักษณะนี้ ในจำนวนชุดการอธิบายทั้งหลาย ผู้เขียนเห็นว่ามี 2 คำอธิบายที่น่าสนใจคือ VUCA World และ BANI World ….
VUCA World มีพัฒนาการมาจากหลังเหตุการณ์ 9/11โดย The United States Army War College ให้เป็นคำจำกัดความลักษณะของโลกที่เอาไว้เตรียมพร้อมทักษะ แนวทางและพฤติกรรมใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยเป็นการประกอบขึ้นของแนวคิด V-Volatility (ความผันผวนจากความเร็วในการเปลี่ยนแปลง) U-Uncertainty (ความไม่แน่นอนจากการขาดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา) C-Complexity (ความซับซ้อนจากภัยคุกคามที่ไม่ได้แยกขาดกันอย่างในอดีตแต่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทำให้การวิเคราะห์ทำได้ยากลำบากขึ้น) และ A-Ambiguity (ความคลุมเครือจากการขาดความชัดเจน การตีโจทย์ หรือความเห็นที่หลากหลายของการดำเนินการ)
ส่วน BANI World เป็นกรอบคิดที่พยายามอธิบายและพยากรณ์โลกยุคใหม่ ถูกคิดค้นโดย Jamais Cascio นักอนาคตวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยเสนอแนวคิดว่าหลายสิ่งในโลกแตกสลายได้ง่าย และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกโดยเป็นการประกอบขึ้นของแนวคิด…
B- Brittle เปราะบางและถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ซึ่งต้องแก้ด้วยการเพิ่ม Soft Skill, Hard Skill และ Digital Skill ให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้มีศักยภาพที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
A-Anxious วิตกกังวลทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ฉะนั้นควรมีการพัฒนาและเอาใจใส่เรื่องสุขภาพจิตและ mindset ของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
N-Nonlinear ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่เป็นเส้นตรงหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบไม่มีใครคาดคิด ขาดตรรกะ และไม่เป็นเหตุเป็นผล ฉะนั้นควรมีมาตรการรับมือและเผชิญเหตที่ยืดหยุ่นและพัฒนาการทำงานเป็นทีมให้ทันกระแสโลกอยู่เสมอ
I- Incomprehensible (ซับซ้อนและเข้าใจยาก ไม่ได้มีความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะจริงหรือเท็จล้วนมีปริมาณมากและซับซ้อน ทำให้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือสรุปเป็นไปได้ยากซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ Big Data เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการทบทวนแนวคิดการวางแผนในระยะยาวให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับสภาวะของโลกด้วย
จาก VUCA สู่ BANI แม้การนิยามสภาวะความผันผวนของโลกด้วย VUCA จะได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้การอธิบายโลกด้วย VUCA อาจจะไม่ชัดเจนนัก และได้เกิดแนวทางในการการอธิบายโลกยุคใหม่หลังการระบาดของไวรัสใหญ่ไปทั่วโลกด้วยคำว่า BANI โดยข้อโต้แย้งของ Jamais Cascio คือ “สิ่งที่เคยผันผวนมาก ๆ หมดความน่าเชื่อถือ คนเราไม่ได้รู้สึกถึงความไม่แน่นอนอีกต่อไป แต่เพิ่มระดับเป็นความวิตกกังวลนอกจากนี้ ระบบต่าง ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นความไม่เป็นเส้นตรง สิ่งที่เคยคลุมเครือกลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าใจได้”
ความแตกต่าง ?อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า “สิ่งที่เคยผันผวนจะผันผวนต่อไป ระบบไม่เคยหมดความซับซ้อน และความคลุมเครือหรือลักลั่นจะยังปรากฏทุกหย่อมหญ้าในอนาคต” กล่าวคือ ทั้งสองแนวคิดต่างเป็นความพยายามในการอธิบายปรากฏการณ์ของโลกที่สมเหตุสมผลทั้งคู่และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยึดถือตัวใดตัวหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศ จุดมุ่งเน้นที่แตกต่างคือVUCA เน้นหนักไปที่การอธิบายลักษณะของโลกและภัยคุกคามในยุคใหม่เพื่อแสวงหาการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน ในขณะที่แนวคิดใหม่อย่าง BANI คือการมุ่งขยายความชัดเจนเพิ่มเติมจากสิ่งที่ VUCA ขาดหาย ซึ่งในแง่หนึ่งมันคือการฉายภาพ ภาวะปกติใหม่ (New Normal)หลังโควิด-19 ที่มีปัจจัยเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งความซับซ้อนและคลุมเครือที่ดำเนินการและสะสมมานานก็ได้แปรสภาพเป็นความ ‘ไม่เป็นเส้นตรงและไม่สามารถเข้าใจได้’ ซึ่งในแง่นี้ผู้เขียนมองว่าเป็นภาวะปกติใหม่และความเป็นจริงใหม่ของโลก เพียงแค่ถูกอธิบายด้วยจุดเน้นที่ต่างกันเท่านั้น
แต่จุดร่วมที่ทั้งสองแนวคิดเสนอขึ้นเพื่อให้การรับมือกับโลกที่วุ่นวายนี้ คือ “การปรับตัวรับเทคโนโลยีและการมีความยืดหยุ่น” ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน และประเทศ ซึ่งข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมได้แก่ 1) Digitization เสริมสร้างความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Big Data มาช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในทุกระดับตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานถึงผู้บริหาร 2) New Policy Maker’s Mindset ฐานคิดในการการกำหนดแผนและมาตรการต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจน กระชับ และที่สำคัญต้องยืดหยุ่น เนื่องจากแผนที่มีความตายตัวจะไม่สามารถหรือกลายเป็นอุปสรรคของการรับมือกับสภาพความท้าทายใหม่ของโลก 3) Mental Health สภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรละเลยการดูแลกิจการหลังบ้านและขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ และ 4) Strengthen Teamwork เสริมสร้างการทำงานเป็นทีม ทั้งวัฒนธรรมการทำงานและการลงทุนในการฝึกอบรมเพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานมีความพร้อมทั้งในด้าน Soft Skill, Hard Skill และ Digital Skill ที่จะทำให้ภาพรวมของหน่วยงานมีความยืดหยุ่นขึ้น “เพราะโลกปัจจุบัน ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ผู้ที่ยืดหยุ่นกว่าจะได้เปรียบมากกว่า”