“พะยูน” (Dugong dugon) มีหลายชื่อเรียก… หมูน้ำ, หมูดุด, ดูหยง, เงือก, วัวทะเล และดูกอง… “พะยูน” เป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล ลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า พะยูนมีขนสั้น ๆ ประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็ก พะยูนมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable species – VU) มีระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อความเป็นอันตรายจากการสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ จากการกำหนดขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources – IUCN)
พะยูนเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย สามารถดำน้ำลึกถึง 39 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะดำน้ำอยู่ในระดับ 10 เมตร พะยูนต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุก ๆ 2 – 3 นาที โดยโผล่จมูกขึ้นมาเหนือผิวน้ำเล็กน้อย บางครั้งอาจจะโผล่ส่วนหลังและหาง ว่ายน้ำได้เร็วระดับ 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาศัยบริเวณพื้นที่ที่มีแนวหญ้าทะเล ในทะเลเขตร้อน และทะเลเขตกึ่งร้อน ประเทศไทยพบพะยูนได้ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พะยูนกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) โดยอาหารของพะยูน คือ หญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการกิน และจะอาศัยอยูใกล้ ๆ บริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอุดมสมบูรณ์ สามารถกินอาหารได้ตลอดเวลา เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ประมาณอายุ 9 – 10 ปี พะยูนตัวเมียตั้งท้องนาน 13 – 14 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และทิ้งระยะ ในการตั้งท้องนาน 3 – 7 ปี และพะยูนมีอายุยืนยาวมากถึง 70 ปี
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ศึกษาพบว่า พะยูนไม่ได้เลือกกินหญ้าทะเลชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ แต่พะยูนจะกินหญ้าชนิดที่พบมากในแหล่งที่มันอาศัยหากินอยู่ ในแต่ละกระเพาะมีหญ้าทะเลปะปนอยู่ 5 – 6 ชนิด และสาหร่ายทะเลอีกจำนวนเล็กน้อย จากตัวอย่างทั้งหมดที่ศึกษาพบหญ้าทะเล 9 ชนิด (ในประเทศไทยมีหญ้าทะเล 13 ชนิด) ได้แก่ หญ้าอำพัน, หญ้าเงาใส, หญ้าชะเงาหรือหญ้าคาทะเล, กุยช่ายทะเล, กุยช่ายเข็ม, หญ้าชะเงาเต่า, หญ้าชะเงาใบมน, หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย และต้นหอมทะเล ทั้งนี้ ฝูงพะยูนใหญ่ในประเทศไทยพบได้ที่ฝั่งอันดามัน เกาะมุก เกาะลิบง จังหวัดตรัง และเกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่
……..ในระหว่างวันที่ 5 – 11 มีนาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และ Hot spot และวิธีการสำรวจทางเรือ ณ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุก จังหวัดตรัง และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้นพบพะยูน 36 ตัว เป็นพะยูนคู่แม่ – ลูก จำนวน 1 คู่ จำนวนพะยูนลดลงจากผลสำรวจเมื่อปี 2566 ที่พบพะยูนในพื้นที่มากกว่า 194 ตัว จากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล สอดคล้องกับปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจังหวัดตรัง ร่วมหาข้อสรุปสาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ “พะยูน” ตรัง พบว่า หญ้าทะเลตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำลดลง 30 – 40 เซนติเมตรเมื่อน้ำลดทำให้หญ้าทะเลตากแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลตาย รวมทั้งตะกอนดิน ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ที่แน่ชัด และขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ดังนี้ 1) ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง 2) ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล 3) งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล และ 4) ไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล
…………นอกจากกรณีหญ้าทะเลตายในฝั่งอันดามันแล้ว ก็เกิดกรณีหญ้าทะเลตายในบริเวณอ่าวไทย ทั้งระยอง ตราด จันทบุรี รวมถึงในมาเลเซียด้วย จากการนำข้อมูลของกรมอุทกศาสตร์ที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปี 2567 พบว่า ระดับน้ำทะเลมีความเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำกว่าปกติของทุกปีเฉลี่ย 30 เซนติเมตร เรียกว่าเกิดภาวะการกระเพื่อมของน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใกล้หาดมาก จากการทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอนในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุก จังหวัดตรัง พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบน 0 – 4 เซนติเมตร เป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอย มีสีขาวปนเทา มีลักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้น 3 – 6 เซนติเมตร เป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อย ที่ชั้นตะกอน 5 – 6 เซนติเมตร เป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะลิบง
ทั้งนี้ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และมวลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ในตะกอนดินและหญ้าทะเลจากบริเวณแนวหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างตะกอนผิวหน้าและชั้นตะกอน พบว่าลักษณะของตะกอนส่วนใหญ่เป็นทราย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะตะกอนจากอดีตที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย ทีมวิจัยยังไม่ตัดประเด็นของตะกอนทับถมทิ้ง และกำลังศึกษาหาแหล่งที่มาของตะกอนดังกล่าวว่ามาจากพื้นที่ใด กรณีการระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่น ๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษาปัจจัยอื่น ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไปอีก โดยอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น และการผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คาดการณ์ว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าทะเลหลงเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (จังหวัดกระบี่ตอนบน จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (จังหวัดสตูล) แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากการสำรวจทำตามงบจำกัด ไม่สามารถสำรวจต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในช่วงเวลาเดียวกัน ที่สำคัญในอดีตไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่จังหวัดตรังเมื่อ 40 ปีก่อน หญ้าทะเลไม่เคยหายไปเยอะแบบนี้ เนื่องจากหญ้าตายเพราะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม การแก้ที่ต้นเหตุจึงเป็นเรื่องยากมาก ในส่วนการปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเลนั้น จำเป็นต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม พันธุ์หญ้าที่เหมาะสม ภูมิต้านทานโรค แต่ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน …………..ตอนนี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูทิศทางการอพยพ เพื่อดูแลแหล่งหญ้าทะเลใหม่ที่พะยูนอาจจะอพยพไป และใช้แนวทางใหม่ เช่น การติดตามสัตว์แบบ tracking ด้วยดาวเทียม, การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ, การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนคงต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาวิกฤตหญ้าทะเล สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของปัญาหาหญ้าที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ฝูงพะยูนหายไปจากท้องทะเลไทย……
อ้างอิง :
https://library.parliament.go.th/index.php/th/radioscript/rr2565-sep2
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-128/
https://km.dmcr.go.th/c_10/d_2864
https://km.dmcr.go.th/c_4/d_766
https://portal.dnp.go.th/DNP/FileSystem/download?uuid=b72d1fa6-6379-4ea4-84a3-2a78d94a01a0.pdf
https://chm-thai.onep.go.th/?page_id=427:text=กลุ่มหญ้าทะเล%20ในประเทศไทย,หญ้าเงาหรือหญ้าใบ
https://www.thaipbs.or.th/news/content/337970
https://www.nationtv.tv/news/social/378941699
https://thaipublica.org/2024/03/living-in-the-anthropocene-04/