ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินรับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือผู้นำของรัสเซียต่อเป็นสมัยที่ 5 โดยสาบานตนรับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเท่ากับว่าประธานาธิบดีคนนี้จะเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองของรัสเซียต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปี โดยเขาได้ใช้พิธีสาบานตนครั้งนี้ยืนยันกับชาวรัสเซียและผู้ร่วมงานพิธีสาบานตนประมาณ 2,600 คน ว่า ความมั่นคงปลอดภัยและผลประโยชน์ของชาวรัสเซียคือ…..สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลและตัวเขาจะปกป้องเป็นอย่างดี
การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งด้วยท่าทางที่มั่นใจในพระราชวังเคลมลิน อดีตพระตำหนักของซาร์ในมอสโคว ทำให้ภาพลักษณ์ปูตินดูดีอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในถ้อยแถลงที่เขาพูดในพิธีสาบานตน ทำให้เราได้เห็นว่า ประธานาธิบดีรัสเซียต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวรัสเซียว่า สังคมรัสเซียที่มีเอกภาพและเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity) จะสามารถเอาชนะอุปสรรค รวมทั้งความท้าทายในปัจจุบันได้ โดยที่ยังรักษา “เสถียรภาพ” ภายในประเทศ และ “ศักดิ์ศรี” ของชาวรัสเซียที่เป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้
…ความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผู้นำรัสเซียกำลังพูดถึง ก็น่าจะไม่พ้นเรื่องสงครามในยูเครน และการรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการทางหทารในยูเครน ซึ่งแม้ว่าการคว่ำบาตรและการลงโทษทางการทูตจากประเทศตะวันตกต่อรัสเซียมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2567 แต่ผู้นำรัสเซียบอกกับประชาชนของเขาว่า ……..“อุปสรรคเหล่านี้จะทำให้เราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นอกจากนี้ เขายังสัญญากับประชาชนด้วยว่าจะเดินหน้าพัฒนาสวัสดิการสังคม ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
เรียกได้ว่าถ้อยแถลงในพิธีสาบานตนของผู้นำรัสเซีย มีพลัง และมีสาร (message) สำคัญ ๆ ที่มุ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผลประโยชน์ของชาติ และรับรู้แนวทางนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องชื่นชมว่าประธานาธิบดีปูตินทำได้อย่างดี อาจเพราะมีประสบการณ์สูง รวมทั้งมีเป้าหมายชัดเจนว่าผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร และเขายังไม่ลืมจะพูดเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย โดยยืนยันคำเดิมว่าสนับสนุนระเบียบโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar world order) ซึ่งนอกจากจะเป็นการได้ใจประเทศส่วนใหญ่ของโลกแล้ว ยังเป็นการท้าทายมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่รัสเซียยังมองว่าพยายามจะเล่นบทเป็นมหาอำนาจที่ก้าวร้าวและทรงอำนาจอยู่ประเทศเดียว
ถ้าให้ประเมินก้าวแรกสู่การเป็นผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5 ของวลาดิมีร์ ปูตินในวัย 71 ปี อาจต้องประเมินว่า ตัวเขายังคงมีสุขภาพแข็งแรง และมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่ชัดเจน รวมทั้งมีประชาชนจำนวนมากคอยสนับสนุน ตลอดจนยังมีมิตรประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมร่วมมือกับรัสเซีย แม้ว่าประเทศตะวันตกส่วนใหญ่จะคว่ำบาตรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย ที่น่าสนใจคือ มีผู้แทนจากฝรั่งเศส เข้าร่วมพิธีสาบานตนครั้งนี้ด้วย…เท่ากับว่า ก้าวแรกของการปกครองรัสเซียในสมัยที่ 5 เป็นไปได้ค่อนข้างสวยงาม สมกับเป็นผู้นำประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมายาวนาน และปัจจุบันคือประธานาธิบดีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดคนหนึ่ง ถัดจากประธานาธิบดี Joseph Stalin
..แต่ก็ไม่ใช่ว่านานาชาติจะส่งเสริมหรือยินดีกับประธานาธิบดีปูตินไปซะทั้งหมด เพราะสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ได้ออกมาคัดค้านการก้าวสู่อำนาจ (อีกครั้ง) ของปูติน รวมทั้งการที่เขากล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะยึดครองพื้นที่บางส่วนของยูเครน นอกจากนี้ แม้ว่าภาพรวมการเมืองรัสเซียจะไม่ต่างไปจากก่อนหน้านี้นัก แต่จะมีการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนาย Mikhail Mishustin ลงนามยุบคณะรัฐมนตรีทั้งหมด และรักษาการไปก่อน จนกว่าจะมีการให้ประธานาธิบดีปูตินแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
ประธานาธิบดีปูติน ได้รับฉายาว่าเป็นผลผลิตของโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเติบโตมาในยุคสงครามเย็น และมีประสบการณ์เห็นระบอบคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตล่มสลายไปกับตา รวมทั้งได้เห็นผลลัพธ์ของการต่อต้านรัฐบาลโดยประชาชนในเยอรมนีที่ทำให้กำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงไปได้ ……ดังนั้น การที่ปูตินเน้นย้ำเรื่อง “เอกภาพ” ของประชาชนและ “ศักดิ์ศรี” ความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียบ่อย ๆ ทุกครั้งในพิธีสาบานตนที่หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือพิธีการทางการเมืองเท่านั้น แต่น่าเชื่อได้ว่าผู้นำที่สามารถสร้างขวัญและกำลังใจได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่รับตำแหน่ง ถือว่าเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจ และฉลาดที่จะใช้ event สำคัญทางการเมืองแบบนี้ทำให้ประชาชนยังคงเชื่อมั่นในตัวเขา รวมทั้งรัฐบาลที่เขากำลังจะคัดเลือกต่อไป