รัฐบาลจีนจัดงานพิธีฉลองครบรอบ 70 ปีที่ศาลามหาประชาชน กรุงปักกิ่ง เนื่องจากประเทศจีนได้สร้างและส่งเสริมหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ข้อ หรือ Five Principles of Peaceful Coexistence ที่รัฐบาลจีนทุกยุคสมัยยึดมั่นมาตลอด เพื่อรักษาสันติภาพและทำให้จีนอยู่ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ได้โดยปราศจากสงคราม
………….หลักการนี้เป็นแนวปฏิบัติสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และเมื่อ 29 มิถุนายน 2567 ก็ครบเวลา 70 ปีพอดีที่หลักการดังกล่าวถูกนำไปใช้เป็นแนวทางร่วมมือและรับมือกับสถานการณ์ต่างประเทศของจีน ขณะเดียวกันก็เป็น “ข้อความ” ส่งต่อให้นานาชาติรับรู้ว่าจีนเป็นประเทศที่ต้องการสันติภาพมาโดยตลอด บทความนี้จึงอยากชวนทำความรู้จัก เข้าใจ และวิเคราะห์ต่อไปว่า…ประเทศจีนที่กำลังก้าวเป็นมหาอำนาจโลกในปัจจุบันนี้ จะยังคงส่งเสริมสันติภาพและลดความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ได้ยังไง เพราะโลกอยู่ในยุคที่มีความขัดแย้งที่ตึงเครียดมากมาย หลาย ๆ เรื่องก็มีประเทศจีนเข้าไปเป็นตัวแสดงหลักเสียด้วย! หรือว่า…หลักการนี้กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่จีนใช้สร้างเกราะป้องกันตนเองกันแน่!?
ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน ทำไมจีนจะต้องริเริ่มและส่งเสริมหลักการนี้ขึ้นมาด้วย?… ดูเหมือนว่าจุดเริ่มต้นของการคิดหลักการนี้ขึ้นมา จะเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีน สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ที่จะแก้ไขปัญหาขัดแย้งกับอินเดียเรื่องดินแดนทิเบต เพราะมีข้อมูลว่าหลักการนี้ หรือในภาษาจีนเขียนว่า 和平共处五项原则 อยู่ในข้อตกลงระหว่างจีนกับอินเดียเมื่อปี 2497 ซึ่งในส่วนของอินเดียจะเข้าใจหลักการนี้ คือ “ปัญจศีล” นั่นเอง …แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะยกเลิกไปแล้วจากปัญหาความขัดแย้งบริเวณพรมแดนที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ระหว่างจีนกับอินเดีย เพราะมีพรมแดนติดกันเยอะ ย่อมมีโอกาสกระทบกระทั่งกัน แต่หลักการ 5 ประการที่ว่านั้น แทบจะไม่เคยเปลี่ยนแปลง!! และจีนไม่เคยละเลยที่จะเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ยอมรับในหลักการนี้ด้วย เช่น ผู้นำจีนนำหลักการนี้ไปเสนอให้เป็นบรรทัดฐานในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชีย และปัจจุบันผู้นำจีนก็ยังโปรโมทประเด็นนี้ในการเยือนต่างประเทศต่าง ๆ ด้วย
การที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับหลักการนี้เสมอ สะท้อนว่า..มันยังเป็นประโยชน์ต่อจีน ประชาชนชาวจีนยอมรับ และเป็นแนวทางที่จีนนำไปปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และยุคสมัย จีนพยายามบอกนานาชาติด้วยว่า นี่คือผลงานของจีนและโลกตะวันออก ที่เป็นผู้ขับเคลื่อน รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือที่แท้จริง
แล้วหลักการที่ว่านั้น….ประกอบด้วยอะไรบ้าง? สำหรับหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการที่จีนยังคงยึดมั่นและนำเสนอให้ทั่วโลกยอมรับด้วยกันมาตลอด 70 ปีนั้น ประกอบด้วยสาระสำคัญ ก็คือ (1) เคารพในอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน (2) ไม่รุกรานกัน (3) ไม่แทรกแซงกิจการภายใน (4) ร่วมมืออย่างเท่าเทียม และเกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ (5) อยู่ร่วมกันอย่างสันติ …อ่านดูแล้วไม่แปลกใจที่จีนจะให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านี้มายาวนาน และกลายเป็นนโยบายต่างประเทศของจีน เพราะทั้งหมดจะส่งเสริมผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติของจีน รวมทั้งยังดูเป็นหลักการกว้าง ๆ ที่ประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะต้องการเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนยังคงพูดเรื่องนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยย้ำด้วยว่าหลักการนี้ของจีนจะช่วยให้โลกผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ตลอดจนขอให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนบทบาทของจีนที่จะเข้าไปสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก….จึงเป็นสัญญาณว่า Five Principles of Peaceful Coexistence จะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปยาว ๆ และน่าจะถูกพูดถึงมากขึ้นด้วย
…………เพราะเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วจากบริบทสถานการณ์โลก จีนเองก็เผชิญความเสี่ยงในระดับสูง จากการเข้าเป็นผู้แข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศอื่น ๆ ประกอบกับจีนไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ตึงเครียดหลายพื้นที่ ทั้งการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน ช่องแคบไต้หวัน และทะเลจีนใต้ …ความเสี่ยงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้อาจทำให้จีนเองต้องอดทนอดกลั้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์ในการยึดถือสันติภาพนั่นเอง ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้อง “สื่อสาร” ข้อความออกไปให้ประชาคมระหว่างประเทศยังเห็นว่าจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพผ่านการพัฒนาที่เท่าเทียมตัวจริง!!
สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานว่า จีนใช้หลักการ 5 ประการดำเนินนโยบายและกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์ต่างประเทศ คือ บทบาทของจีนในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) ที่จีนมีโอกาสจะไม่ก้าวก่ายหรือไม่ออกความเห็นเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น จีนใช้สิทธิวีโตมติต่าง ๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมของรัฐ หรือ behavior เพราะยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และเคารพในอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน
นอกจากนี้ ถ้าจะใช้หลักการนี้มองการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา คู่แข่งสำคัญของจีนในตอนนี้…สังเกตได้ว่า จีนใช้ประโยชน์จากหลักการ 5 ประการ เอาเรื่องความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม มากำหนดแนวทางและระดับการตอบโต้นโยบายของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการต่อจีน ทั้งในการทำสงครามการค้า และการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในประเทศของกันและกัน …ต้องขอบอกว่า ปัจจุบันจีนทำถึง!! ตอบโต้อเมริกาได้เกือบทุกประเด็น
ในอนาคต จีนจะดำรงรักษาแนวปฏิบัติตามหลักการ 5 ประการนี้ไปได้ถึงเมื่อไหร่ หรือจะปรับหลักการนี้ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นได้? เพราะความท้าทายปัจจุบันไม่ได้มีแค่เรื่องการรุกรานอธิปไตย หรือแทรกแซงกิจการภายในกันแบบตรงไปตรงมาแล้ว!! อีกทั้ง…ความท้าทายด้านความมั่นคงและอธิปไตยของจีนปัจจุบัน ไม่ได้มาจาก “ตัวแสดงที่เป็นรัฐ” หรือ state actor เพียงอย่างเดียว จีนอาจไม่สามารถใช้หลักการนี้กับกลุ่มก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ หรืออันตรายที่ยังมองไม่เห็น เช่น ความเคลื่อนไหวในลักษณะ “สงครามข่าวสาร” และปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ที่ยังไม่มีกฎระเบียบระหว่างประเทศที่ชัดเจน ……จีนจึงอาจจะโปรโมทหลักการนี้ให้กลายเป็นค่านิยมหลักของประเทศกำลังพัฒนา และมิตรประเทศของจีน เพื่อให้เป็นเครือข่ายสร้างเกราะป้องกันอันตราย และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในหลากหลายมิติให้กับจีนต่อไป