ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการใช้ “อำนาจ” หรือ power เพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ควบคู่กับการดำรงรูปแบบความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ …คำอธิบายนี้อาจใช้ในการอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการแบ่งขั้วอำนาจโลก หรือ Polarity ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยคุณ Goedele De Keersmaeker นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ระบุไว้ว่า การแบ่งขั้วอำนาจในโลก จะช่วยอธิบายพฤติกรรมของรัฐต่าง ๆ ได้ดี รวมทั้งช่วยอธิบายเหตุผลที่รัฐบางรัฐแสดงหรือใช้อำนาจ (power) มากกว่ารัฐอื่น ๆ ด้วย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ได้แบ่งขั้วอำนาจโลกออกเป็นอย่างน้อย 3 ระบบ อ้างอิงจากสถานการณ์โลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ขั้วอำนาจเดียว (unipolarity) ขั้วอำนาจ 2 ขั้ว (bipolarity) และหลายขั้วอำนาจ (multipolarity)
หากไล่เรียงประวัติศาสตร์โลกผ่านสงคราม เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจโลกได้ชัดเจนขึ้น ในช่วงสงครามเย็น โลกมี 2 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต และหลังสิ้นสุดสงครามเย็น สหภาพโซเวียตล่มสลาย ระบบขั้วอำนาจโลกเปลี่ยนเป็นขั้วอำนาจเดียว คือ สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวโดยไม่มีประเทศอื่นมาเทียบเคียงได้ …ปัจจุบัน นักวิชาการ (ส่วนใหญ่ชาวอเมริกัน) ยังถกเถียงกันไม่เสร็จว่า ระบบขั้วอำนาจแบบใดสร้างสันติภาพและเสถียรภาพด้านความมั่นคงระหว่างประเทศได้ดีกว่ากัน แต่นาย Kenneth Waltz และ John Mearsheimer จากสำนักคิดสัจนิยมใหม่เชื่อว่า ระบบ 2 ขั้วอำนาจหรือ bipolarity มีแนวโน้มจะสร้างสันติภาพได้ยาวนานที่สุด เพราะจะมีการแข่งขันควบคู่กับรักษาดุลอำนาจระหว่างประเทศ แต่ John Ikenberry และ William Wohlforth นักวิชาการชื่อดังเชื่อว่า โลกที่มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวต่างหาก (unipolarity) จะสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระยะยาว…
วงการวิชาการอเมริกันอาจยังต้องการข้อสรุปเกี่ยวกับระบบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็น 1 ในมหาอำนาจ เหตุผลก็เพื่อรักษาสถานะนี้ที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของประเทศต่อไป แต่ปัจจุบัน หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้แล้วว่า โลกที่มีหลายขั้วอำนาจอาจจะดีกว่าไหม!? พร้อม ๆ กับที่ทั่วโลกกำลังตั้งคำถามและกล่าวถึงระบบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ (multipolarity) ที่มีมหาอำนาจตั้งแต่ 3 ขึ้นไป …เพราะประชากรโลกอาจเริ่มรู้สึกว่า ไม่ว่าจะ 1 หรือ 2 ขั้วอำนาจที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำให้เกิดสันติภาพได้ยาวนานสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่มีสงครามและความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย ..ไม่มีมหาอำนาจไหนสามารถยับยั้งวิกฤตด้านมนุษยชาติได้เลย
แนวคิดโลกหลายขั้วอำนาจ จึงกำลังได้รับความนิยม ถูกพูดถึงทุกครั้งในการประชุมระดับนานาชาติ และที่สำคัญ คือได้รับการกล่าวถึงในเชิงบวก และสนับสนุนให้เกิดโลกหลายขั้วอำนาจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของกลุ่มความร่วมมือจากโลกตะวันตก โลกตะวันออก กลุ่มประเทศใหญ่ กลาง หรือเล็ก ก็มีประเด็น “การส่งเสริมโลกหลายขั้วอำนาจ” เป็น agenda หรือวาระในการพูดคุยเสมอ
มีข้อสังเกตนิดนึงว่า …”โลกหลายขั้วอำนาจ” ที่หลายประเทศกำลังพูดถึงนั้น มีหลายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่เล็กน้อย สังเกตดี ๆ สหรัฐฯ จะเน้นย้ำว่าระบบโลกหลายขั้วอำนาจนี้ หมายถึงการที่รัฐต่าง ๆ มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ หรือปัญหาข้ามชาติ โดยที่ยังให้มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำในความร่วมมือต่าง ๆ ..ส่วนจีนและรัสเซีย จะเน้นโลกหลายขั้วอำนาจที่แต่ละรัฐมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรื่องระดับโลกอย่างเท่าเทียม เต็มใจ และยุติธรรมด้วย!! “ความยุติธรรม” คือ ความแตกต่างสำคัญในนิยามคำว่า “โลกหลายขั้วอำนาจ” ของจีนและรัสเซีย …ส่วนโลกหลายขั้วอำนาจของอาเซียนมองว่าเป็น “โอกาส” ที่อาเซียนจะเป็นกลไกเชื่อมความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจต่าง ๆ ขณะที่ G-20 ซึ่งดูจะเป็นกลไกที่สอดคล้องกับคำว่าพหุภาคีแห่งมหาอำนาจมากที่สุดในปัจจุบันนี้ เพราะมีสมาชิกเป็นประเทศสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก และล่าสุด มีการประชุมระดับผู้นำที่เมืองรีโอเดจาเนโร บราซิล ใน พฤศจิกายน 2567 แต่ผลลัพธ์ คือ การประชุมนี้ได้กลายเป็น “เวทีใหญ่” ให้สมาชิกได้พูดคุยกันในเรื่องปัญหาระดับโลกเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็ไม่พ้นเรื่องโลกรวน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การประชุม G-20 ครั้งล่าสุดนี่แหละ ที่ทำให้เกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า…แท้จริงแล้ว การส่งเสริมโลกหลายขั้วอำนาจที่ใคร ๆ ก็ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ จะเป็นโอกาสสร้างโลกที่สมบูรณ์ เสมอภาค และยุติธรรม แต่ระบบโลกที่รัฐทุกรัฐมีสิทธิและอำนาจเท่าเทียมกันนั้น กำลังทำให้เกิดภาวะ “ปราศจาก” หรือไร้ขั้วอำนาจโลกหรือเปล่า!? ข้อสังเกตนี้มาจากการติดตามผลลัพธ์การประชุมระหว่างประเทศในห้วงปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประชุมของกลุ่มความร่วมมือที่มีมากกว่า 3 ประเทศขึ้นไป …ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม เพราะแต่ละรัฐต่างเริ่มยึดถือเอา “อำนาจ” และอธิปไตยเหนือการดำเนินนโยบายของตัวเอง เป็นเกราะป้องกันการสูญเสียผลประโยชน์ หากต้องร่วมมือกับประเทศอื่น
ยกตัวอย่างเช่น การประชุมของ G-20 ที่บราซิล เมื่อ 19-20 พฤศจิกายน 2567 บราซิลเป็นประธานการประชุมของกลุ่มที่มีสมาชิก 19 ประเทศ ซึ่งมีสหภาพยุโรปกับสหภาพแอฟริกาด้วย ผู้นำบราซิลใช้เวทีนี้ผลักดันสันติภาพ และแก้ไขปัญหาระดับโลก แต่ท้ายที่สุด..บรรลุเป้าหมายเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดจากการประชุม G-20 ในปี 2567 นี้ ก็คือ การตั้ง Global Alliance against Hunger and Poverty ขึ้นมาให้เป็นกลไก แก้ไขปัญหาความอดอยาก (hunger) และความยากจน (poverty) ของโลก ซึ่งเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นวาระสำคัญต่อไปของ G-20 เพราะประธานจัดประชุมในปี 2568 คือ แอฟริกาใต้
G-20 ยังทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของนิยาม “ขั้วอำนาจโลกที่หลากหลาย” ชัดเจนมากขึ้น G-20 ยังไม่สามารถยุติสงครามในพื้นที่สำคัญอย่างตะวันออกกลางหรือยูเครนได้ ไม่สามารถเริ่มต้นการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จริง รวมทั้งยังไม่สามารถผลักดันมติเรื่องการลดใช้พลังงานฟอสซิลได้ เพราะรัฐต่าง ๆ ใช้อำนาจที่เท่าเทียมกันในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเอง และตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของการประชุมครั้งนี้ อาจเป็นท่าทีของผู้นำอาร์เจนตินา ประธานาธิบดี Javier Milei ที่คัดค้านข้อความในถ้อยแถลงร่วมของการประชุม โดยเป็นผู้นำสมาชิก G-20 คนเดียวที่ไม่ยอมรับแนวทางที่จะให้รัฐแทรกแซงการแก้ไขปัญหาความอดอยากและยากจน รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะต้องออกระเบียบควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่สื่อสังคมออนไลน์ด้วย
นอกจากนี้ การประชุมแบบพหุภาคีต่าง ๆ ตลอดปี 2567 ทั้งของ G-20 และกรอบอื่น ๆ ก็ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเท่ากับการหารือ 2 ฝ่ายระหว่างผู้นำประเทศที่ไปเยือนบราซิลในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะเราต่างรู้ดีว่า ข้อตกลงสำคัญ ๆ มักจะเกิดขึ้นจากการหารือระหว่าง 2 ประเทศมากกว่า…ทำให้รู้สึกว่า รัฐต่าง ๆ ต้องการโลกที่มีหลายขั้วอำนาจจริงหรือไม่!? หรือกำลังใช้คำว่า multipolarity เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง รวมทั้งต่อต้านอำนาจของมหาอำนาจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ยังขัดแย้งกันอยู่หลายประเทศ
บทความนี้จึงขอฝากให้ผู้อ่านช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือบอกเล่าประสบการณ์จากการติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ว่ามีโอกาสที่จะเกิดโลกหลายขั้วอำนาจได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงโลกที่ไร้มหาอำนาจ เพราะไม่มีประเทศไหนทรงอิทธิพลมากพอจะสร้างสันติภาพระยะยาวได้อีกต่อไป รวมทั้งไม่มีประเทศไทนที่มี “อำนาจ” เบ็ดเสร็จครบทุกมิติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้มหาอำนาจก็มีจุดแข็งแตกต่างกันไป และสภาวะ “ไร้ขั้วอำนาจ” จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อประเทศไทยมากกว่ากัน?? … รวมถึงฝากมุมมองต่อเรื่องระเบียบโลกที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “digital order” ที่ Ian Arthur Bremmer นักเขียนและนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวถึงเอาไว้เมื่อปี 2566 โดยบอกว่าผู้ที่กำหนดระเบียบโลกและพฤติกรรมมนุษย์ในปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาล ศาสนา หรือลัทธิความเชื่อแบบไหน แต่เป็นบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งกำลังใช้ข้อมูลข่าวสารในการสร้างระเบียบโลกใหม่ จึงเป็นสาเหตุให้ตอนนี้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังพยายามร่วมมือกันควบคุมอำนาจของบริษัทเหล่านี้ให้ได้ เพื่อให้ขั้วอำนาจของโลกยังตกอยู่ในมือรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ นั่นเอง