ห้วงเดือนที่ผ่านมากระแสร้อนแรงระหว่างไทยเพื่อนบ้านยังไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลง โดยเฉพาะ
ความขัดแย้งที่เกี่ยวพันน่านน้ำหรือเขตแดนทางทะเล ทั้งพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในทะเลอ่าวไทย (Overlapping Claims Area-OCA) หรือล่าสุดอย่างกรณีเรือรบเมียนมายิงเรือประมงของไทย โดยอ้างว่าเรือประมงของไทยรุกล้ำน่านน้ำของเมียนมา เหล่านี้คือตัวอย่างของสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ทำให้ประเด็นน่านน้ำและเส้นเขตแดนทางทะเล (Maritime Boundary) เป็นประเด็นที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการทำความเข้าใจ อาจจะเป็นเพราะว่าในทะเลไม่มีเส้นเขตแดนที่แบ่งได้อย่างชัดเจนเหมือนเส้นเขตแดนบนบก ขอบเขตน่านน้ำของแต่ละประเทศก็เลยยากที่จะบอกได้ชัดว่าจุดไหนเป็นของใคร
ไทยเรามีน่านน้ำที่ติดต่อทั้งพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ทะเลอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ซึ่งก็ทำให้ไทยเรามีน่านน้ำที่ติดกับเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งระหว่างปี 2502 จนถึงปี 2538 ประเทศไทยของเราประกาศเขตแดนทางทะเล สอดคล้องตามหลักเกณฑ์กฎหมายทางทะเลเกี่ยวกับทะเลอาณาเขต ซึ่งหลักกฎหมายสากลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่ยึดถือกันทั่วโลก ก็คือ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982” (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) หรือว่าเรียกสั้น ๆ คุ้นหูกันว่า UNCLOS 1982
ตามหลักกฎหมาย UNCLOS 1982 ทำให้มีการกำหนดเขตน่านน้ำทางทะเลของทุกประเทศ รวมถึงไทยออกเป็น 6 เขต ไล่จากใกล้ชายฝั่งออกไปตามนี้ คือ 1) เขตน่านน้ำภายใน (internal Waters) พื้นที่ตรงนี้เราจะมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ หากเรือต่างชาติเข้ามาจะต้องขออนุญาตก่อน ตัวอย่างพื้นที่ก็คือ บริเวณอ่าวรูปตัว ก. ของอ่าวไทย ไกลออกไปคือ 2) ทะเลอาณาเขต (Territorial Waters) ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน (ชายฝั่ง) ตรงนี้รัฐก็จะมีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ดังกล่าวทั้งในอากาศ ท้องทะเล และดินใต้พื้นผิว เรือของต่างชาติที่ต้องการผ่านทะเลอาณาเขตสามารถผ่านได้หากไม่กระทบต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงต่อรัฐ
ต่อมาเป็นเขตที่เรียกว่า 3) เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) ตาม UNCLOS1982 จะไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งสามารถควบคุมกิจกรรมที่จำเป็นเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวกับศุลกากร การคลัง และการเข้าเมือง ต่อมาที่น่าจะคุ้นหูขึ้นมา คือ 4) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones-EEZ) ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน เป็นพื้นที่ที่รัฐสามารถเข้าสำรวจ ใช้ประโยชน์ รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวได้ และรัฐชายฝั่งมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้างและควบคุมการสร้างเกาะเทียม แต่ว่ารัฐอื่น ๆ ย่อมมีเสรีภาพในการเดินเรือ การบินผ่าน การวางสายเคเบิลใต้ทะเล จากนั้นเป็น 5) ไหล่ทวีป (Continental Shelf) คือบริวเณที่ไม่เกิน 350 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน รัฐมีสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป และสุดท้ายคือ 6) ทะเลหลวง ก็คือทะเลในส่วนที่เหลือจากข้างต้น ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเดินเรือ การบินผ่าน หรือการทำประมง และนอกเหนือจากกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS 1982 ที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน น่านน้ำ แล้ว ไทยยังลงนามอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958
เมื่อเราเข้าใจว่าทะเลมีส่วนอะไรบ้างจากหลักกฎหมายสากลที่ยึดถือกันทั่วโลกอย่าง UNCLOS 1982 แล้ว จะเห็นว่าเรื่องเส้นเขตแดนและน่านน้ำทางทะเลมันซับซ้อนอย่างที่ได้กล่าวไป และเท่าที่ผ่านมาประเทศไทยของเรามีปัญหาเส้นเขตแดนทางทะเลในแทบทุกจุด เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปักปันเขตแดนทางน้ำ โดยปัญหาที่รออยู่ในอนาคต ได้แก่ ด้านทะเลอ่าวไทย การอ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชา การเจรจาแบ่งเขตแดนในพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area-JDA) ระหว่างไทยกับมาเลเซียที่กำลังจะหมดอายุในปี 2572 ด้านทะเลอันดามัน ที่องค์กรอุทกศาสตร์สากลระบุว่า ทะเลอันดามันของไทยถึงแค่แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต ส่วนที่เหลือกว่า 40,000 ตร.กม.เป็นเขตทางทะเลของไทยในช่องแคบมะลากาตอนเหนือ ซึ่งในการแบ่งแบบนี้ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาได้ ส่วนเขตแดนทางทะเลกับเมียนมา เหนือหมู่เกาะสุรินทร์ขึ้นไปมักมีการอ้างสิทธิทับซ้อนบริเวณ เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก
สำหรับการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางทะเลของไทยกับเพื่อนบ้าน ขอหยิบยกตัวอย่างในกรณีที่เรียกว่าประสบความสำเร็จก่อนอย่าง กรณีไทย-มาเลเซีย ที่นับเป็นต้นแบบความสำเร็จในการทำความร่วมมือในการพัฒนาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย (JDA) นับจากการประกาศใช้กฎหมายทางทะเลทำให้ไทยกับมาเลเซียมีพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันประมาณ 7,250 ตร.กม. ห่างจากปัตตานี 180 กม.และห่างจากรัฐกลันตันมาเลเซีย 150 กม. แต่ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลครั้งแรกเมื่อปี 2515 และเริ่มขุดก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้จริงในปี 2548 และมีระยะเวลาในการพัฒนาร่วม 50 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้ไทยกับมาเลเซียบรรลุข้อตกลง JDA ร่วมกันได้ เกิดจากวิกฤติพลังงานในช่วงต้น ๆ ปี 2515 ที่ขาดแคลนพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้ไทยกับมาเลเซียเลยต้องประนีประนอมโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ร่วมกันด้านพลังงานมากกว่าที่จะเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ไทยกับมาเลเซียยังพึ่งพากันในประเด็นความมั่นคง ณ ขณะนั้น ที่มาเลเซียเผชิญปัญหาคอมมิวนิสต์มาลายา ไทยก็มีกลุ่มความไม่สงบเคลื่อนไหวเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งสองจึงพยายามหาความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อแก้ไข โดยปัจจุบัน ไทยและมาเลเซียเห็นพ้องที่ต่อสัญญาการพัฒนาร่วมไป JDA ไปจึงถึงปี 2572
ด้านเมียนมา ไทยมีความขัดแย้งทางทะเลกับเมียนมาบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ความขัดแย้งว่าด้วยการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะหลาม-เกาะคัน -เกาะขี้นก และปัญหาการกำหนดเขตแดนทางทะเลตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำปากจั่นถึงเกาะคริสตี ซึ่งปัญหาของไทยกับเมียนมา มีประเด็นที่เหมือนกันกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์และจีน ก็คือง่าย ๆ ว่า เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะต่าง ๆ โดยปัญหาทั้งหมดของไทยกับเมียนมามันมีสาเหตุหลักจากการทั้งสองประเทศไม่สามารถตำลงกำหนดเขตแดนทางทะกันได้ เกาะทั้งสามก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร จนถึงปัจจุบันปัญหานี้ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ก็มีการเสนอให้ใช้กลไกระงับข้อพิพาทภายใต้อนุสัญญากฎหมายทะเล ปัญหาเขตแดนทางทะเลที่ไทยกับเมียนมายังตกลงร่วมกันไม่ได้นี่เอง ส่งผลกระทบต่อชาวประมงของไทย เนื่องจากมักจะเกิดกรณีที่ทหารเมียนมาเข้าจับกุมและดำเนินคดีอยู่บ่อยครั้งที่ทำประมงในพื้นที่ใกล้กับกรณีพิพาท เพราะอ้างว่าไทยมีการละเมิดน่านน้ำ ครั้งล่าสุดเมื่อต้นปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายไทยก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาออกระเบียบใหม่ให้เรือประมงของไทยติดตั้งเทคโนโลยีเตือนการรุกล้ำน่านน้ำแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบเตือนดังกล่าวถูกเพิกเฉยหรือไม่ได้ใช้งาน
อีกหนึ่งปัญหาที่ยังคงค้างคาและหากมีการหยิบยกขึ้นมาหารือจะรุกลามบานปลายได้คือ ปัญหาการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ประชาชนไทยในสื่อสังคมออนไลน์ห่วงกังวลว่าหากรัฐบาลไทยเจรจาแบ่งบันผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นการเสียดินแดนและสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เราก็มีการวิเคราะห์กันเกี่ยวกับการจัดตั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee -JTC) เพื่อทำหน้าที่หารือทางเทคนิคร่วมกับฝ่ายกัมพูชาในการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ OCA และมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) เป็นกลไกย่อยที่จะหารือเกี่ยวกับเส้นเขตแดน และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ OCA ควบคู่กัน คณะกรรมการ JTC ประกอบด้วยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ กรมอุทกศาสตร์ รวมถึงกระทรวงพลังงาน เป็นต้น ซึ่งก็คงต้องบอกว่าการเจรจาใช้ประโยชน์ใน OCA จะยังคงเป็นปัญหาค้างคาและยากจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเร็ววันนี้ แม้ว่าจะมีความเจรจามามากกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม เพราะการพัฒนาพื้นที่ OCA ร่วมกันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเจรจาอย่างรอบคอบ และใช้เวลานานกว่าจะตกลงกันได้ เพราะต้องดูทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่ควรเอาประเด็นเหล่านี้มาบิดเบือนหรือปลุกปั่นในทางการเมือง