เหตุรถยนต์พุ่งชนผู้คนในจีนและเยอรมนีที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหมดปี 2567 และเริ่มต้นปี 2568 ด้วยเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุรถบรรทุกพุ่งชนคน ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐฯ ในวันปีใหม่ จนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งทางการสหรัฐฯ ระบุว่าจะสอบสวนเหตุดังกล่าวในฐานการก่อการร้าย หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยสูงเนื่องจากเกิดเหตุการใช้ความรุนแรงน้อยครั้งยังเริ่มมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาวุธมีด ปืน หรือฆ้อน โดยเมื่อ 10 มกราคม 2568 เกิดเหตุนักศึกษาใช้ฆ้อนทำร้ายเพื่อนนักศึกษาด้วยกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน
เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ฉุกคิดถึงอันตรายจากการก่อเหตุรุนแรงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ก็ตาม หรือผู้ก่อเหตุจะมีแรงจูงใจจากสาเหตุใดก็ตาม คนธรรมดา ๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็เป็นเหยื่อทุกครั้งไป คำถามคือ เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ทำนองนี้ที่น่าจะเกิดมากขึ้น รวมถึงในไทยที่มีข่าวการใช้ความรุนแรงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแทบทุกวัน
ท่ามกลางข่าวสารการใช้กำลังทางทหารตอบโต้กันระหว่างคู่ขัดแย้งระดับรัฐและที่ไม่ใช่รัฐในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงใกล้บ้านเราในเมียนมา จนทำให้มีการคาดการณ์ว่า การก่อการร้ายจะหวนกลับมาเกิดถี่ขึ้นอีกครั้ง ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีตอบโต้กันระหว่างคู่พิพาทและที่เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายเอง ที่ฉวยโอกาสแสดงศักยภาพจากสถานการณ์วุ่นวายในประเทศต่าง ๆ ก็มีข่าวการก่อเหตุรุนแรงที่เป็นการกระทำของคนธรรมดา ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิด แต่ผลจากการก่อเหตุกลับสร้างความตื่นตระหนกให้ไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งในจีนที่ผู้มีปัญหาส่วนตัวเลือกใช้การก่อเหตุรุนแรงเป็นทางออก เพื่อแสดงความไม่พอใจหรือผิดหวังในสิ่งที่ต้องพบเจอในชีวิตหลายครั้ง โดยมีเหยื่อเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องจบชีวิตจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายสิบคน ทั้ง ๆ ที่จีนมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้น รวมถึงการควบคุมการมีอาวุธในครอบครอง
ในห้วงกันยายน-พฤศจิกายน 2567 เกิดเหตุการใช้ความรุนแรงหลายครั้งในจีน จนทำให้มีข้อกังขาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ โดยเมื่อปลายกันยายน 2567 ชายวัย 37 ปี ที่มีปัญหาทางการเงิน ใช้มีดไล่แทงผู้คนในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 15 คน ต่อมาเมื่อ 28 ตุลาคม 2567 ชายวัย 50 ปีใช้มีดไล่แทงผู้คนใกล้โรงเรียนประถมที่ปักกิ่ง จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน รวมทั้งเด็ก 3 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุ และเมื่อช่วงกลางพฤศจิกายน 2567 เกิดเหตุการทำร้ายประชาชนหลายระลอก ทั้งการใช้มีดไล่แทงผู้คนที่โรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งที่เมือง Yixing ห่างจากไปทางตะวันตกของมหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บ 17 คน ผู้ก่อเหตุเป็นนักเรียนอายุเพียง 21 ปี เนื่องจากสอบไม่ผ่านจนทำให้เรียนไม่จบ และไม่พอใจที่ได้ค่าตอบแทนน้อยในช่วงฝึกงาน นอกจากนั้นยังเกิดเหตุรถยนต์ SUV พุ่งชนนักเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ในมณฑลหูหนาน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งไม่มีเด็กได้รับบาดเจ็บ โดยผู้ก่อเหตุ เป็นชายวัย 39 ปี และอีกเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วคือ คุณลุงวัย 62 ปีที่ผิดหวังจากการแบ่งทรัพย์สินหลังการหย่าร้าง เลือกจะแสดงความผิดหวังและไม่พอใจ ด้วยการขับรถยนต์พุ่งชนคนที่สนามกีฬาแห่งหนึ่งที่เมือง Zhuhai ทางใต้ของจีน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน
นอกจากมีการก่อเหตุรุนแรงที่มีแรงจูงใจจากเรื่องส่วนตัวเกิดขึ้นในจีนแล้ว ยังมีการก่อเหตุรุนแรงที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกับการก่อการร้าย โดยใช้วิธีการเดียวกันคือ การขับรถยนต์พุ่งชนคนทั้งที่เยอรมนีและสหรัฐฯ โดยที่เยอรมนีเกิดเหตุรถยนต์พุ่งชนผู้คนจำนวนมากในตลาดคริสต์มาส เมือง Magdeburg เมื่อ 20 ธันวาคม 2567 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 200 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสหลายสิบคน ผู้ก่อเหตุเป็นแพทย์ชาวซาอุดีอาระเบียอายุประมาณ 50 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีใบอนุญาตพำนักถาวร จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เพื่อหามูลเหตุจูงใจการก่อเหตุ ในเบื้องต้น มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นเพราะผู้ก่อเหตุไม่พอใจการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวซาอุดีอาระเบียของเยอรมนี และที่ผ่านมาก็มีประวัติการพูดหรือโพสต์ข้อความต่อต้านศาสนาอิสลามและพัฒนาแนวคิดต่อต้านอิสลามมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนที่สหรัฐฯ เกิดเหตุชายวัย 42 ปีขับรถกระบะพุ่งชนประชาชนที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 35 คน เมื่อช่วงคืนวันปีใหม่ (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่ง FBI เชื่อว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้กระทำการเพียงลำพังและมีเจตนาชัดเจนในการก่อเหตุ โดยจะสอบสวนเหตุดังกล่าวในฐานการก่อการร้าย แม้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตในระหว่างการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ขณะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เหตุที่เกิดขึ้นยิ่งซ้ำเติมกระแสห่วงกังวลว่าภัยจากการก่อการร้ายจะหวนกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง หลังจากที่หลายฝ่ายประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะมีการกระทำที่เกี่ยวพันกับการก่อการร้ายจะมากขึ้น รวมถึงความพยายามก่อการร้ายอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาในตะวันออกกลาง เช่น กรณีที่ทางการสิงคโปร์จับกุมชาวสิงคโปร์ที่เปิดรับแนวคิดนิยมความรุนแรงผ่านช่องทางออนไลน์ได้เป็นระยะหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส รวมทั้งมีการฝึกการใช้อาวุธเพื่อเตรียมสำหรับเข้าร่วมก่อเหตุในต่างประเทศ
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในจีน เยอรมนี หรือสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเกิดจากแรงจูงใจใดและเป็นการกระทำที่เป็นการก่อการร้ายหรือไม่ แต่ผลตามมาคือ ความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในสังคม ไม่ว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยากที่จะป้องกันและระมัดระวังตัว เนื่องจากไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ก่อเหตุ โดยมีแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นมาจากอะไร อีกทั้งอาวุธที่จะนำมาใช้ในการก่อเหตุรุนแรงก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น มีด ปืน หรือรถยนต์ รวมถึงสิ่งที่อยู่ไกลตัวแต่ก็ไม่ยากที่จะประดิษฐ์ขึ้นเอง เช่น ระเบิด หากเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือแม้แต่ถามจาก AI
…ในยุคที่สังคมมีความเปราะบาง หลายคนถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และบ้างก็มีความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เสมอภาค หรือการถูกเลือกปฏิบัติ ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขให้ผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าวใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกในการออกแสดงออกถึงความไม่พอใจและระบายความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการก่อเหตุรุนแรงหลายครั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใดเป็นการกระทำของคนธรรมดา ๆ ที่ผิดหวังในชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเลือกใช้วิธีรุนแรงเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุที่ไม่ต่างจากผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้มีดไล่แทง การกราดยิง และการขับรถยนต์พุ่งชน แต่ที่ต้องห่วงกังวลมากขึ้นคือความถี่ในการใช้ความรุนแรง เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะทำให้ชีวิตเราอยู่ยากมากขึ้น คำถามสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้เราอยู่รอดและปลอดภัยมากที่สุดท่ามกลางสังคมที่มีความไม่ปลอดภัยทั้งจากการก่อการร้ายที่ผู้ก่อเหตุมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือการก่อเหตุรุนแรงที่เป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรม