การประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดที่กรุงเทพฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 4 เมษายน 2568 แล้วด้วยความราบรื่น และประสบความสำเร็จ ซึ่งมีทั้งการเปิด “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030″ โดยนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเป็นประธานการประชุมฯ และมีการลงนามในปฏิญญาการประชุมฯ การประชุมฯ ครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่มีการชุมแบบพบปะกันโดยตรง สำหรับประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไปคือบังกลาเทศ
“วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” เป็นไฮไลท์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวในเปิดการประชุมฯ หลังจากผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” ที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอ จะเป็นกรอบความร่วมมือ ที่จะนำสมาชิก BIMSTEC ไปสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และเปิดกว้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก โดยประเด็นสำคัญใน “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” มีทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งด้านดิจิทัล
โดยนายกรัฐมนตรีไทยเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำ BIMSTEC FTA เพื่อให้เกิดผลดีต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มที่จำนวนประชากร รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายใน BIMSTEC อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 นอกจากนี้ ย้ำการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งภาค SMEs จึงเสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) และการจัดงาน “BIMSTEC Young Gen Forum” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ ICONSIAM กรุงเทพฯ ก็เป็นเวทีสำหรับผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนความเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเล และการก่อสร้างทางหลวงสำคัญ ซึ่งโครงการ Landbridge ของไทยจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย รวมทั้งไทยพร้อมร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยไปยังเมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว BIMSTEC ยังต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล
ไทยได้เสนอจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน” ของ BIMSTEC เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ขณะเดียวกันไทยก็สนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้ง “ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย ไทยได้ขอความร่วมมือในการดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาค
ในระดับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค BIMSTEC ที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค
นอกจากนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นประธานการเปิดประชุมฯ และเสนอ”วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030″ แล้ว ยังได้มีการพบปะกับผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย