ขณะที่ทั่วโลกพูดถึงโอกาสที่มาพร้อมความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่นับวันจะยิ่งล้ำสมัยจนยากเกินกว่าจินตนาการของเรา นวัตกรรมอีกอย่างที่เราได้ยินกันมานาน แม้อาจเงียบ ๆ ไปบ้างเมื่อมีเทคโนโลยีเกิดใหม่หลากหลายมากขึ้น ก็มีสัญญาณว่า จะมีพัฒนาการก้าวไกลไม่น้อยไปกว่า AI หรือเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่เราจับต้องได้และพบเจอได้ในชีวิตประจำวันในลักษณะตัวเป็น ๆ เทคโนโลยีที่ว่าก็คือ หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ หรือหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (humanoid robot) ที่จะมีความเหมือนมนุษย์มากขึ้นทุกทีทั้งรูปร่าง หน้าตา การเคลื่อนไหว การสื่อสาร และจะเกินหน้าเกินตามนุษย์ยิ่งขึ้น เมื่อควบรวมกับเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น AI หรือ machine learning ที่จะทำให้หุ่นยนต์ธรรมดา ๆ กลายเป็น intelligence robot
ผู้ผลิตหุ่นยนต์ไม่ลดละที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ เครื่องกลที่ผู้พัฒนาอยากให้มีชีวิต ให้ยิ่งเหมือนสิ่งมีชีวิตขึ้นไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์มนุษย์ หรือหุ่นยนต์สุนัข ในห้วงที่บริษัทเทคหน้าใหม่มุ่งมั่นกับการพัฒนา AI ให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้น และในยุคปัจจุบันที่สงครามเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจคู่แข่งคือ สหรัฐฯ กับจีน ทวีความเข้มข้นไม่ด้อยไปกว่าสงครามการค้า …หุ่นยนต์ นวัตกรรมที่จับต้องได้ จึงมีโอกาสจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและพัฒนาอย่างก้าวล้ำไม่ต่างไปจากเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการของมนุษย์ในฐานะผู้ช่วยสารพัดภารกิจทั้งงานบ้าน งานหนักในโรงงาน งานบริการตามสถานประกอบการ สถานพยาบาล หน่วยงานกู้ชีพและกู้ภัย รวมถึงอาจเป็นกำลังเสริมในสมรภูมิรบต่าง ๆ
ความต้องการหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา รวมถึงภาคบริการกลายเป็นโอกาสของผู้ผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งหนึ่งในประเทศผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของโลกที่เดาได้ไม่ยากก็คือจีน ที่ผู้ประกอบการมองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนเติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2566 และคาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศ 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนจะพัฒนายิ่งขึ้นจากการที่จีนมุ่งส่งเสริมการพัฒนาด้วยคุณภาพและให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้ธีม “New Quality Productivity and Global Science and Technology Cooperation” ประกอบกับมีความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่นานาชนิดไม่น้อยหน้าประเทศตะวันตก การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลักดันของรัฐบาล โดยประกาศแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ตามแผนยุทธศาสตร์สำหรับปี 2568 และ 2570 ด้วยปัจจัยผลักดันเหล่านี้น่าจะทำให้การก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ระดับโลกของจีนไม่ใช่เรื่องยาก
…และที่สำคัญการพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนให้มีความล้ำสมัยทั้งการมีลักษณะทางกายภาพที่มีความเหมือนจริงและสวยงามแทนที่จะดูเป็นเครื่องจักรกลเหมือนหุ่นยนต์ยุคก่อนหน้า แต่ทำงานได้ทั้งงานหนักและงานเบา มีประสิทธิภาพในการสื่อสารเพื่อรองรับการทำงานร่วมกับมนุษย์และทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่มีต้นทุนต่ำ บำรุงรักษาได้ไม่ยุ่งยาก และมีความปลอดภัยในการใช้งาน จะตอบสนองผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีนในยุคที่ต้องแข่งขันกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าและความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี พร้อม ๆ กับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสินค้าไฮเทคอื่น ๆ ของจีนที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในลำดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ สมาร์ทวอช สมาร์ทโฟน AI รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโดรน
เมื่อมองดูคุณสมบัติต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ที่ผู้ผลิตวาดหวังจะสร้างให้เป็นผู้ช่วยมนุษย์แล้วเริ่มไม่แน่ใจว่า หุ่นยนต์จะเป็นผู้ช่วยหรือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์มากกว่ากัน ยิ่งหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นเท่าใด บวกกับจะมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้นด้วยการผนวกรวม AI หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่น ๆ ที่จะทำให้หุ่นยนต์มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และอาจจะเกินหน้ามนุษย์ ยิ่งในยุคที่หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การขยับขึ้นมาเป็นแรงงานหลักของหุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและอาจมาเร็วจนเราตั้งตัวไม่ทัน เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าแรง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ รวมถึงแสดงถึงความทันสมัยของธุรกิจ จะหันไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ขณะที่บรรดาผู้ผลิตหุ่นยนต์เองก็พยายามขยายตลาดในภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังมีลูกค้าเสริมจากภาคครัวเรือนที่ก็ต้องการผู้ช่วยทำงานบ้านและดูแลสมาชิกในครอบครัว
เราพร้อมหรือยัง…….
แม้การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตมนุษย์ของหุ่นยนต์ตั้งแต่โรงงานจนถึงบ้านเรือนอาจเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอนาคตอันใกล้ ในยุคที่อัตราการเกิดของประเทศต่าง ๆ ลดลงต่อเนื่องและต้องการแรงงาน ทำให้ฉุกคิดว่า เราพร้อมหรือยัง หากหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในวิถีชีวิตของเรา และเราพร้อมหรือยังที่ต้องรับเทคโนโลยีเกิดใหม่จากต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกแขนงแม้มีหุ่นยนต์สัญชาติไทยอยู่บ้างเช่นกัน ……และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเห็นหุ่นยนต์เดินปะปนกับเราเช่นที่เราพบเจอแรงงานต่างด้าวในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในยุคที่แรงงานมนุษย์เป็นของหายากและนับวันจะยิ่งขาดแคลน จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วเราจะเลือกอะไรดีระหว่างหุ่นยนต์กับแรงงานคน (ต่างด้าว) และหากหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ก็น่าคิดว่ามนุษย์ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม และจะมีสถานะอย่างไร……..ในวันที่หุ่นยนต์มีความสามารถเหนือเรา