ภาวะโลกเดือดที่เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงของมนุษยชาติทั่วทุกมุมโลก สภาวะนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเกิดเหตุการณ์หิมะตกในทะเลทราย ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ต้องเผชิญพายุฝนครั้งใหญ่ แม้ปัญหาโลกเดือดจะได้รับการจัดหมวดหมู่ให้เป็นประเด็นความท้าทายและภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปใหม่ (New Security Challenges) แต่เชื่อไหมว่า!?…หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ความแปรปรวนนี้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นมาตลอด เพราะที่ผ่านมาโลกเราได้เผชิญกับการเคลื่อนตัวของแผ่นโลก เหตุภูเขาไฟระเบิด การเปลี่ยนเส้นทางของกระแสน้ำในมหาสมุทร หรือแม้กระทั่งยุคน้ำแข็ง ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน
เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2568 บทความนี้อยากจะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับวัฏจักรและความสำคัญของ “ฝน” โดยย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่โลกยังไม่มีแผ่นดิน …หรือเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Great Dying Rain หรือฝนตกไม่หยุดต่อเนื่องมากกว่า 2 ล้านปี เมื่อ 2,500-3,500 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับยุคอาร์เคียน (Archean Eon) แต่ไม่สามารถระบุสถานที่ได้ชัดเจน เพราะหากย้อนไป 3,000 ล้านกว่าปี แผ่นทวีปในตอนนั้นไม่เหมือนกับปัจจุบัน ในช่วงนั้นโลกยังเต็มไปด้วยหินหลอมเหลวที่เริ่มโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำทะเล แผ่นดินที่ร้อนระอุนี้ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ทำให้เกิดไอร้อนและควันจากภูเขาไฟปริมาณมาก และการระเหยของไอน้ำนั่นเองที่กลายเป็น “น้ำฝน” ที่กลับมาช่วยชะลอความร้อนของหินหลอมเหลว จนในที่สุดกลายเป็นแผ่นดิน
เมื่อน้ำฝนปริมาณมากทำหน้าที่สร้างแผ่นดิน และทำให้เกิดภูมิประเทศที่จะช่วยกักขังน้ำในแผ่นดิน จนกลายเป็นแหล่งน้ำจืด แต่เราเข้าใจกันดีว่าภูมิประเทศทั่วโลกยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะนอกจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจาก “น้ำฝน” แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวชนกันจนทำให้เกิดเทือกเขา นอกจากนี้ มีข้อมูลยืนยันว่า “ปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกัน” ในแต่ละพื้นที่ก็มีผลต่อลักษณะภูมิประเทศและสิ่งมีชีวิตที่จะดำรงอยู่ได้ด้วย
ในอดีต “น้ำฝน” ทำหน้าที่สร้างแผ่นดิน และยังทำหน้าที่กัดเซาะภูเขา เกิดเป็นร่องเขา ร่องน้ำที่กลายเป็นแม่น้ำสายสำคัญสำหรับการคมนาคม อุปโภคบริโภค และกำเนิดอารยธรรมจนถึงทุกวันนี้ ฝนยังพัดพาแร่ธาตุจากชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบของอากาศถึงร้อยละ 78 ที่เป็นแร่ธาตุสำคัญทำให้พืชเจริญเติบโต รวมทั้งแร่ธาตุจากพื้นที่สูงไหลลงพื้นที่ราบลุ่มจากการไหลชะหน้าดินซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายพืชพรรณไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดความหลากหลายและการสืบสายพันธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับด้วยว่าพืชที่ได้รับน้ำฝนจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าพืชที่รดน้ำประปา
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเพราะมีฝนตกตามฤดูกาลที่เป็นผลจากลมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีแหล่งน้ำที่แน่นอนและมีที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ในภาคกลางเหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับ “ฝน” และการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะของประเทศได้
ฤดูฝนจึงเป็นฤดูสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราอาจคุ้นเคยเรื่องราวตำนานหรือนิทานที่เกี่ยวข้องกับสายฝน หรือเทพที่บันดาลให้เกิดฝนได้ …….“ฝน” ในกรอบแนวคิดของสัญญะวิทยาเชื่อว่า หมายถึงชีวิต การเกิดใหม่ การเติบโต และการเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ หลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเชื่อว่า “ฝน” หมายถึงโชคดี และคำอวยพร แต่ฝนก็อาจมีความหมายเป็นความท้าทายหรือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับสิ่งมีชีวิตก็ได้ เพราะปริมาณที่มากเกินความต้องการ ทำให้เกิดภัยพิบัติหรืออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น น้ำท่วม การจราจรติดขัด การเกษตรเสียหาย ระบบชลประทานรองรับไม่ทัน ระบบนิเวศแวดล้อมเสียหาย และส่งผลต่อสุขภาวะได้..
…ตามตำราด้านจิตวิทยา เสียงฝนโปรยปรายช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ลดความเครียด และความกระวนกระวายใจได้ ฝนเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง (transition) และความต่อเนื่อง (continuity) เหมือนวลีที่ว่า หลังฝนตก แสดงอาทิตย์จะกลับมา “ฝนตก” จึงมีความหมายและความสำคัญลึกซึ้งต่อจิตวิญญาณและอารมณ์ของมนุษย์อย่างมาก หากฝนตกในวันที่มีพิธีกรรมเผาศพหรืออำลาผู้เสียชีวิต ทุกศาสนาเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งการเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การต้อนรับจากพระเจ้า หรือการปลอบประโลมจิตใจให้ผู้สูญเสีย …
…..ในยุคสมัยใหม่มีงานวิจัยที่ยืนยันเช่นกันว่า “สภาพอากาศในตอนฝนตก” อาจมีผลเชิงลบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์เช่นกัน เพราะหากมนุษย์ไม่ได้รับแสงแดดหรืออยู่กับสภาพอากาศที่มีฝนตกนานเกินไป มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเครียด กระวนกระวาย และซึมเศร้าได้ง่าย ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ย้ำว่า “สภาพอากาศ” และฟ้าฝนมีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต มากกว่าเรื่องเกษตรกรรมหรือการคมนาคม แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญตั้งแต่การสร้างโลก รวมถึงส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ด้วย ที่ผ่านมา…ฝนช่วยเปลี่ยนโลกและปรับอารมณ์ของมนุษย์
…รู้หรือไม่ว่า “ฝน” เองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน!!
ปรากฏการณ์ฝนเปลี่ยนแปลง อาจสังเกตได้ชัดเจนและใกล้ตัวที่สุด จากเหตุการณ์รอบฤดูกาลที่ไม่เหมือนเดิมและคาดการณ์ได้ยากขึ้น จนเกิดภัยตามธรรมชาติบ่อยครั้ง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทุกๆ 5-10 ปี แม้การเปลี่ยนแปลงของฝนและปรากฏการณ์ตามธรรมชาติต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ที่จะเป็นความท้าทายต่อความมั่นคงและการอยู่รอดของมนุษย์ ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีแนวโน้มจะ “ถี่” มากขึ้น ฝนอาจจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าอารมณ์ของมนุษย์เสียอีก!! และการรับมือกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันและรุนแรงนี้ ทำให้มนุษย์ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าที่เคยเป็นมา…
“ฤดูฝน” ยังคนทำหน้าที่ต่อไป พร้อมกับเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักร โดยมีปัจจัยเร่งคือภาวะโลกรวน ซึ่งมีผลการศึกษามากมายทั่วดลกยืนยันแล้วว่า กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกรวนรุนแรงเฉียบพลัน ดังนั้น มนุษย์อาจต้องการชุดความรู้และการเตรียมตัวอยู่ในธรรมชาติในรูปแบบใหม่ โดยต้องเข้าใจกับวัฏจักรของธรรมชาติและปรับตัวเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ มากกว่าพยายามจะควบคุมหรือแทรกแซงเพื่อที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าสังคมจะมีความเชื่อแบบใดหรือมีเทคโนโลยีมากแค่ไหน ก็ไม่อาจเอาชนะความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลกได้อย่างแน่นอน …