ไม่ว่าโลกจะพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและการสื่อสารไปไกลขนาดไหน แต่มนุษย์ยังคงต้องมี “อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อความอิ่มท้องและสร้างพลังงาน บทความนี้ขอนำเสนอความสำคัญของอาหารที่เป็นผลิตจากการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะการบริโภคส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ plant-based หรือ animal-based …มนุษย์เรียนรู้การทำเกษตรกรรมเพื่อสะสมอาหารและพัฒนาสู่การแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างสังคม เกษตรกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญของการผลิตเพื่อมนุษยชาติ และเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนทุกอย่างบนโลก
ปัจจุบัน เกษตรกรทั่วโลกเผชิญความท้าทายจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง จึงต้องมองหาวิธีการเพาะปลูกที่ตอบโจทย์ทั้งด้านประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความมั่นคงด้านอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 โลกจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร ดังนั้น เกษตรกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและมองหาทางเลือกใหม่ให้เหมาะสมกับโลกอนาคต สำหรับรูปแบบเกษตรกรรมในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เบื้องต้นเป็น 3 รูปแบบ ซึ่งอาจนำไปต่อยอด ได้แก่ การเพาะปลูกกลางแจ้ง (Open field) การเพาะปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) และการเพาะปลูกเพื่อสร้างโรงงานผลิตอาหาร (Plant factory) ไปลองศึกษาและทำความเข้าใจว่าเกษตรกรรมรูปแบบไหนจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้บ้าง และควรเริ่มต้นอย่างไร
การเพาะปลูกกลางแจ้ง (Openfield) เป็นวิธีเก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานว่ามนุษย์เริ่มทำการเกษตรในรูปแบบนี้มาตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic Age) เมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ซึ่งรูปแบบนี้ยังคงเป็นแกนหลักในการทำเกษตรกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่น อินเดีย บราซิล และไทย ซึ่งต่างก็มีพื้นที่เพาะปลูกเปิดมากกว่าร้อยละ 60–70 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด การเพาะปลูกกลางแจ้งอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการเพาะปลูกมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด น้ำฝน และหน้าดิน แต่….เกษตรกรในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาจากฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นในอากาศที่ลดลง และปริมาณแร่ธาตุในดินที่ลดน้อยลง รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วม และศัตรูพืชที่ควบคุมยาก
รูปแบบที่สอง คือ การเพาะปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) มีการพัฒนาในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ที่เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสใช้ปลูกพืชเมืองร้อนในฤดูหนาว และนิยมใช้จนมาถึงปัจจุบันหลายประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อปลูกพืชต่างถิ่นที่ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชที่ต้องการปลูก เพราะมีผนังและหลังคาที่สามารถป้องกันอากาศ ความชื้น รวมถึงควบคุมปริมาณแสงแดดจากภายนอกและทำให้เกิดความร้อนในสภาวะเรือนกระจก การทำเกษตรกรรมในรูปแบบนี้ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นผู้นำโลกด้านการส่งออกผักจากโรงเรือน แม้มีพื้นที่เกษตรเพียงร้อยละ 0.5 ของโลก แต่กลับส่งออกผลิตผลได้เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น FAO ได้ระบุไว้ว่า โรงเรือนสามารถลดการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 70 และลดการใช้สารเคมีลงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับการปลูกกลางแจ้ง แม้แต่ประเทศที่แห้งแล้งยากต่อการเพาะปลูกอย่างอิสราเอล ก็ยังสามารถเพาะปลูกได้เมื่อใช้โรงเรือนควบคู่กับเทคโนโลยีการตรวจวัดความต้องการของพืชและใช้ทรัพยากรให้พอดีกับการเจริญเติบโตของพืช ผลิตผลที่มาจากโรงเรือนจะสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพได้ง่ายกว่า ปราศจากศัตรูพืช แต่ความท้าทายของเกษตรกรรมรูปแบบนี้ คือ การลงทุนที่สูงกว่า เพราะต้องสร้างอาคารโรงเรือนที่มีคุณภาพ ทำให้การเพาะปลูกรูปแบบนี้เหมาะสมกับพืชบางชนิดที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และยังไม่เหมาะกับพืชที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ไม้ยืนต้น และพืชไร่ ที่เป็นอาหารส่วนใหญ่ของคนทั้งโลก
ต่อยอดจากโรงเรือนสู่อาคารแบบปิดที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมแบบ 100% ควบคุมแม้กระทั่งแสง คือ การตัดความเป็นธรรมชาติออกจากการเพาะปลูก ด้วยรูปแบบการเพาะปลูกที่เรียกว่าเกษตรกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตอาหาร (Plant Factory) พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่จะต้องเป็นพื้นที่แนวราบขนาดใหญ่ที่ห่างไกลซึ่งมีราคาที่ดินต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชแนวตั้งในอาคารนี้ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายใจกลางเมือง โดยปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสร้างแหล่งอาหารในตึกสูงได้รับความนิยมในปี 2543 เพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้นของญี่ปุ่นจากสภาพเกาะที่มีที่ดินจำกัด และความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูก โดยใช้แสงจากหลอด LED ให้แสงสีเฉพาะกับที่พืชต้องการ การเพาะปลูกแบบนี้ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมคุณภาพได้ทั้งความสะอาดและสดใหม่เพราะแหล่งที่ปลูกอยู่ใกล้กับมือผู้บริโภค
เกษตรกรรมรูปแบบที่สามนี้อาจดูเป็นการตอบโจทย์โลกอนาคตได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นเกษตรกรรมรูปแบบนี้ยังมีต้นทุนสูงจนไม่เหมาะสำหรับพืชบางชนิด รวมถึงยังมีประเด็นที่ยังไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน เพราะพืชจะได้รับเพียงสารอาหารเฉพาะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ต่างจากการปลูกพืชตามธรรมชาติที่มีแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมายให้พืชได้ดูดซึม และกลายเป็นอาหารเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะปลูกทั้ง 3 รูปแบบ ส่วนมากเป็นการปลูกกลางแจ้งเพราะภูมิอากาศเหมาะสมและเพื่อลดต้นทุน แต่แม้จะเป็นวิธีการทำเกษตรกรรมที่ต้นทุนน้อยที่สุด ทุกวันนี้พี่น้องชาวเกษตรกรไทยก็ยังเผชิญปัญหาขาดทุน เนื่องจากมีต้นทุนทางด้านเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เร่งการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล หรือเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลแลผู้บริโภค ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มตระหนักถึงเรื่องสุขภาพในระยะยาว จึงเริ่มเลือกหาอาหารที่มาจากแหล่งอาหารที่มีความปลอดภัย มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากเกษตรกรรมรูปแบบ Greenhouse และ Plant factory
…ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าอาชีพเกษตรกร จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินและน้ำ ให้ปรับตัวกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกขั้นสูงมากขึ้น เพราะเกษตรกรอาจต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศที่แปรปรวน ท้ายที่สุดแล้ว เกษตรกรรมและองค์ความรู้ของเกษตรกรจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติอยู่รอดต่อไป ประเทศไทยควรใช้จุดแข็งในการทำเกษตรกรรมหลากหลายรูปแบบนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความรู้ของเกษตรกรให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ต่อไป