ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน ระเบียบโลกเดิมซึ่งนำโดยกลุ่มชาติตะวันตกนั้น กำลังถูกท้าทายจากการผงาดขึ้นของกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) อันหมายถึงกลุ่มประเทศที่เคยถูกมองว่ากำลังพัฒนาและถูกตีกรอบให้ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยมหาอำนาจตะวันตกในช่วงการฟื้นฟูระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ดี ประเทศโลกใต้มีบทบาทที่สำคัญในการจัดระเบียบโลกใหม่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้การรวมกลุ่มของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการเติบโต หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มบริกส์ (BRICS)” ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเข้ามาแทนที่ระเบียบโลกเดิม อาทิ กลุ่มประเทศ G7 ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) จนมีนักวิชาการบางกลุ่มมองว่า คือจุดเริ่มต้นของ“ความเสื่อมถอยของอิทธิพลตะวันตก” (De-Westernization)
BRICS เข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ IMF พบว่า BRICS ได้ครองสัดส่วนเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 41 ในปี 2568 จำนวนประชากรของกลุ่มดังกล่าวรวมกันนั้น ครองสัดส่วนเกือบครึ่งของประชากรทั้งโลกจำนวน 3,617.6 ล้านคน หรือร้อยละ 45.5 ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ BRICS ที่พร้อมจะท้าทายระเบียบโลกเก่า อีกทั้ง ในช่วงที่หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มแสดงท่าทีว่าการขยายตัวของ BRICS เป็น “ภัยคุกคามเชิงโครงสร้าง” ของอำนาจเดิม เพราะจีนสมาชิกสำคัญของ BRICS รวมทั้งมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม และประชากรมากที่สุดในกลุ่ม มีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต อย่างเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา BRICS ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ในฐานะสมาชิกแรกเริ่ม และได้ขยายกรอบความร่วมมือมากขึ้นผ่านการเปิดรับสมาชิกกลุ่มใหม่ ทำให้เกิด BRICS+ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน ต่อมาในปี 2567 การประชุมสุดยอดคาซาน (Kazan Summit) ได้มีการตกลงกันผ่านปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์ก ในเรื่องการเปิดรับประเทศหุ้นส่วนของ BRICS เพิ่มเติมอีก ได้แก่ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ยูกันดา อุซเบกิสถาน และไทย ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2568
แม้ว่าสถานะของการเป็นประเทศหุ้นส่วนใน BRICS นั้น ไม่ได้มีบทบาทเทียบเท่ากับการเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ดี การเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ทำให้ไทยมีทางเลือกมากขึ้น เห็นได้ชัดจากกรณีสงครามทางการค้า (Trade War) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ผ่านมารวมไปถึงโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรม ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ที่จะตามมาในอนาคต อีกทั้ง หากนโยบายภายในและต่างประเทศของไทยมีทิศทางสนับสนุน BRICS ไทยก็อาจใช้จุดเด่นด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การที่กำลังจะมีโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ระดับภูมิภาค และความมั่นคงทางอาหารที่สูง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี การรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศตะวันตก ผ่านความร่วมมือด้านความมั่นคง ควรดำเนินควบคู่กับการขยายบทบาทในเวที BRICS เพื่อไม่ให้ไทยผูกติดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป เนื่องจากจะเห็นได้ชัดในการประชุมสุดยอด BRICS ที่บราซิลเมื่อ 6-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นการปะทะระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ชัดเจน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศภายหลังการประชุมดังกล่าวว่า หากคู่ค้าของสหรัฐฯ เลือกที่จะอยู่ฝ่าย BRICS ก็จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในขณะที่นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แสดงความเห็นต่อมาตรการดังกล่าวว่า สงครามการค้าและสงครามภาษีไม่มีผู้ชนะ รวมถึงมาตรการปกป้องทางการค้าจะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
การที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศชัดเจนว่ากลุ่ม BRICS คือฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันไทยก็ใกล้ชิดจีน และต้องการเปิดตลาดการค้าและการส่งออกใหม่ ๆ ในประเทศกลุ่ม BRICS นอกจากสหรัฐฯ ไทยซึ่งมีกลยุทธ์อยู่แล้วในการรักษาดุลความสัมพันธ์ และกำลังหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ต้องติดตามนโยบายการแข่งขันของทั้งสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นสมาชิกแกนนำสำคัญในกลุ่ม BRICS รวมทั้งรัสเซียด้วยเช่นกัน