สถานการณ์ของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังคงมีความซับซ้อนและท้าทาย เนื่องจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เผชิญปัญหาในหลายมิติ หนึ่งในปัญหาหลักคือแรงงานจำนวนมากยังคงเข้าสู่ประเทศโดยผิดกฎหมาย ส่งผลให้รัฐไม่สามารถควบคุม ดูแล หรือคุ้มครองสิทธิได้อย่างทั่วถึง และยังเปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ เช่น การเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
รัฐบาลไทยจึงได้จัดระเบียบแรงงานเหล่านี้ เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน การเร่งรัดการขึ้นทะเบียน และการขยายระยะเวลาพำนักอาศัยในไทยของแรงงานตามระบบหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding หรือ MOU) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เพื่อจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบกำกับการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ลดการลักลอบเข้าเมือง และส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรัฐ โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้เข้ามาในไทย ในปี 2568 ประเทศที่มีแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุดคือ เมียนมาร์ จำนวน 969,000 คน ต่อมาคือกัมพูชา จำนวน 167,000 คน ลำดับต่อมาคือลาว 64,000 คน
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบปัญหา เช่น ความล่าช้าในกระบวนการ ความไม่โปร่งใสในระบบนายหน้า แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งนำไปสู่แรงกดดันจากทั้งประเทศต้นทางและองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก ในช่วงที่ประเทศต้นทางเกิดวิกฤต เช่น ความไม่สงบในเมียนมา หรือปัญหาเศรษฐกิจในลาวและกัมพูชา แรงงานจะหลั่งไหลเข้าสู่ไทยอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ไทยต้องควบคุมชายแดนและจัดการแรงงานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งหากขาดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพจากประเทศต้นทาง เป็นปัญหาด้านความมั่นคง ไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุลระหว่างการคุ้มครองแรงงาน การรักษาความมั่นคงภายใน และการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่กับการตอบสนองต่อมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเวทีระหว่างประเทศ
แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างแรงงานของประเทศ โดยเฉพาะในภาคส่วนแรงงานก่อสร้าง เกษตร ประมง และบริการ พวกเขาช่วยเติมเต็มกำลังแรงงานที่ขาดแคลน และทำให้ภาคการผลิตเดินหน้าต่อไปได้ในต้นทุนที่แข่งขันได้ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แรงงานเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยชะลอผลกระทบจากจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง
แรงงานต่างด้าวยังส่งผลต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยก่อให้เกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในบางพื้นที่ ขณะเดียวกันก็สร้างแรงผลักดันให้รัฐพัฒนานโยบายด้านแรงงานให้มีระบบมากขึ้น ทั้งในแง่การจัดการแรงงานผิดกฎหมาย การทำข้อตกลงกับประเทศต้นทาง และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน แรงงานข้ามชาติจึงไม่ใช่เพียงผู้มาทำงาน แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของโครงสร้างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์
ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในหลายมิติ หากขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ แรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอาจกลายเป็นช่องทางให้เครือข่ายค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติแทรกซึม เข้าถึงได้ยากต่อการควบคุมของรัฐ อีกทั้งการกระจุกตัวของแรงงานต่างด้าวในบางพื้นที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม ความขัดแย้งเรื่องวัฒนธรรมและทรัพยากร ความเปราะบางทางกฎหมายในตลาดแรงงานก็อาจเปิดช่องให้เกิดการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน
ในอนาคตประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนประชากรวัยแรงงานในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปรากฏการณ์นี้ทำให้แรงงานต่างด้าวกลายเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความสามารถในการผลิตของประเทศ ซึ่งการบริหารจัดการแรงงานเหล่านี้จะต้องมี ความเข้มงวดและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ความเข้มงวด คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เช่น การคัดกรองแรงงานที่เข้ามาอย่างละเอียด การควบคุมระบบนายหน้าอย่างรัดกุม การตรวจสอบและลงโทษนายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ตลอดจนการควบคุมการลักลอบเข้าเมืองอย่างเข้มแข็ง เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ ต่อมาความเป็นระบบ คือการวางโครงสร้างและกระบวนการจัดการที่เป็นขั้นตอน เชื่อมโยง และประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบดิจิทัล การจัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่สามารถเข้าถึงได้จากหลายหน่วยงาน การประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางผ่านระบบ MOU รวมถึงการวางแผนกำลังคนระดับชาติเพื่อรองรับความต้องการแรงงานในระยะยาว
ในส่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศต้นทางของแรงงาน เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชาจะยิ่งมีบทบาทสำคัญ เพราะไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในมิติของเศรษฐกิจ การทูต และความมั่นคง การดำเนินการผ่านระบบ MOU จำเป็นต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของไทยบนเวทีโลก
รัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของแรงงานต่างด้าว เพื่อลดความตึงเครียดหรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติกระจุกตัว เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือชุมชนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เช่น การจัดทำนโยบายด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (intercultural communication policy) การบูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้ากับระบบบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น เช่น การศึกษา สุขภาพ และความปลอดภัย รวมถึงการสร้างกลไกมีส่วนร่วมจากทั้งแรงงานข้ามชาติ ชุมชนเจ้าบ้าน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีความครอบคลุม สะท้อนความต้องการจริง และสามารถตอบสนองต่อความหลากหลายของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาแนวทางแบบองค์รวมที่มีทั้งความเข้มงวดในเชิงกฎหมายและความเป็นระบบในเชิงนโยบายจึงเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตของประเทศไทย