ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในประเด็นภัยความมั่นคงที่สำคัญอย่างมากหรืออาจพูดได้ว่ามากที่สุดหากมองในแง่มุมความเป็นอธิปไตยของประเทศ โดยความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของผู้เขียน คือสถานการณ์ความขัดแย้งที่แสดงออกผ่านทางการใช้ความรุนแรงในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ร้อยละ 80 ของประชากร เป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อ 4 พฤษภาคม 2568 เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 1,100 คน เกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 33.45 ระบุว่า สถานการณ์แย่เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 20.36 ระบุว่า สถานการณ์ดีเหมือนเดิม ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีมุมมองว่าสถานการณ์ยังเป็นความท้าทายของประเทศ
เหตุการณ์เหล่านั้นที่เกิดในพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมไทยบางส่วนเกิดความรู้สึกความกลัวต่อชาวมุสลิม หรือ Islamophobia ซึ่งบทความนี้จะชวนขบคิดในเรื่องนี้
จากรายงานการพิจารณาการศึกษา เรื่อง สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และแนวทางแก้ไขเชิงรุก โดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ปี 2553 ระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2544 เหตุการณ์การวางระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่เหตุการณ์ที่มีความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นฉนวนของความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เหตุการณ์การปล้นปืนที่ค่ายกองพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับแต่นั้นเหตุการณ์ความไม่สงบจึงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันยังคงมีการก่อเหตุความรุนแรงอยู่จากกลุ่มกลุ่มติดอาวุธ เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 เมษายน 2568 – 2 พฤษภาคม 2568 คือ เหตุกราดยิงผู้บริสุทธิ์ รวมไปถึงมีการลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนคดีความมั่นคง กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส
เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุรุนแรง เช่น มีการลอบยิงอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) ที่วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มติดอาวุธ ใน อ.สุไหงโกลก หลายครั้ง และลอบวางระเบิดรถสามล้อพ่วงข้างบ้านพักตำรวจใน ตำบลโคกเคียน มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 6 ราย ตำรวจบาดเจ็บ 1 นาย และ กลุ่มติดอาวุธดักยิงรถกระบะที่บรรทุกพระ–สามเณร จนสามเณรพงษ์กร (16 ปี) เสียชีวิต และสามเณรโภคนิษฐ์ (12 ปี) ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดที่ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ขณะออกบิณฑบาตในเขตเทศบาล
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่สังคมภายนอกก็อาจเหมารวม ซึ่งนำไปสู่อคติและความเข้าใจผิดที่ฝังลึกในสังคมไทย ดังเช่น นายตอลา เด็งลาลา ชาวบ้านจังหวัดปัตตานี เคยให้สัมภาษณ์กับ Benarnews เมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 “ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมคนมุกดาหาร คนเชียงใหม่ ถึงออกมาปักป้ายไม่ต้องการให้มีการสร้างมัสยิด เพราะหลายครั้งลูกหลานเขามาทำงานในพื้นที่ แต่เวลากลับบ้านต้องกลายเป็นศพ ข่าวก็เสนอว่าขบวนการทำให้เขาถูกยิง ถูกระเบิดตาย ส่วนข่าวดี ๆ ความสามัคคีที่เกิดในพื้นที่ ไม่มีใครรู้ เพราะสื่อไม่ได้เสนอ ทางแก้ คือ เราต้องช่วยกัน ทำให้คนนอกรู้ว่าเราอยู่กันได้อย่างปกติ”
จากมุมมองดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อสังคมทั้งประเทศ เพราะเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกและทัศนคติทั้งต่อเหตุการณ์และกลุ่มบุคคล แต่เพราะความรับรู้ของมนุษย์นั้นประกอบสร้างจากความรู้และอารมณ์ ดังนั้น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและถูกนำเสนอโดยมีอคติ (bias) ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่มีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมทำให้เกิดกระแสความรู้สึกที่เรียกว่า “ความหวาดกลัวอิสลาม” หรือ Islamophobia วาทกรรมที่ค่อนข้างอันตรายต่อมนุษยชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย
กลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งบางส่วนอ้างอิงศาสนาอิสลามเป็นเหตุผลเพื่อก่อเหตุรุนแรง ก่อกวน หรือสร้างความไม่สงบในชุมชน โดยอ้างการตีความศาสนาอิสลามไปทางสุดโต่ง (mutashaddid-extremism) เช่น เหตุกราดยิงสำนักพิมพ์นิตยสารชาร์ลี เอ็บโด (Charlie Hebdo) ที่ฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ที่ผู้ก่อการร้ายอ้างว่าเป็นการตอบโต้การวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลาม
นอกจากนี้ หลายครั้งที่เหตุการณ์ความรุนแรงในต่างประเทศนั้นเชื่อมโยงกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่นำไปสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือการโจมตีของกลุ่ม Islamic State (IS) ที่ทำให้ทั่วโลกวิตกกังวล เหตุการณ์และความรุนแรงเหล่านั้นถูกนำเสนอและผลิตซ้ำผ่านสื่อหลักต่าง ๆ รวมทั้งภาพยนตร์ จนทำให้มีผลต่อมุมมองของคนไทยต่อชาวมุสลิมไปด้วย แม้ว่าไทยจะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน และคนต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น แต่เพราะความรับรู้และความเข้าใจต่อผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในไทยถูกแทรกซ้อนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศ พร้อม ๆ กับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สังคมไทยตระหนักถึงความท้าทายจากปัญหาอคติและความเข้าใจผิดนี้ และได้พยายามแก้ไข เพื่อส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าในต่างประเทศ ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน เพราะความหวาดกลัวอิสลามนั้นยิ่งซ้ำเติมปัญหาความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม เช่น ในสหรัฐฯ ชุมชนชาวมุสลิมกลับกลายเป็นเป้าหมายและเหยื่อในการก่อเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการโพสต์ข้อความยั่วยุในโซเชียลมีเดีย การข่มขู่ทางไปรษณีย์ การเผาคัมภีร์อัลกุรอ่าน การดูหมิ่นศาสนาอิสลามและศาสดามุฮัมมัด การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางวาจา
เหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างของความหวาดกลัวอิสลามที่นำไปสู่ความรุนแรง และสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อสังคม เช่น ผู้ก่อการร้ายที่นิยมแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและฝักใฝ่ความรุนแรงกราดยิงในมัสยิดไครสต์เชิร์ช (Christchurch Mosque) นิวซีแลนด์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 51 ราย และบาดเจ็บ 49 ราย ซึ่งนับเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) อันเป็นผลมาจากกระแสความหวาดกลัวอิสลาม
จะเห็นได้ว่าความหวาดกลัวและหวาดระแวงที่มีต้นเหตุจากการได้รับรู้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และการเหมารวม ไม่เป็นผลดีและไม่ได้ทำให้สร้างความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าชุมชนนั้นจะนับถือศาสนาอะไรหรือมีความเชื่อแบบใด หากมีความระแวงและขาดการเฝ้าระวังแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งก็เสี่ยงตกอยู่ในอันตรายได้ ดังนั้น สังคมไทยควรส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะสถานการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ สังคมไทยต้องให้ความสำคัญกับการเคารพซึ่งกันและกัน เปิดใจเรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลาย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสันติ ทั้งหมดนี้ อาจเป็นกลไกทางสังคมที่ทำให้สามารถแก้ไขและยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต