Fast Fashion จะปัง หรือพัง
โลกาภิวัตน์ (Globalization) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ กระแสความนิยมที่เป็นผลมาจากการเสพสื่อและการอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งแฟชั่น (Fashion) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยในแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัยก็จะมีวิธีการหรือสไตล์ในการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมนั้น ๆ แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น มีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและมีรูปแบบการแต่งกายที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทำให้เกิดเป็น “กระแสฟาสต์แฟชั่น” (Fast Fashion) โดยฟาสต์แฟชั่นเป็นธุรกิจที่เน้นการขายเสื้อผ้าราคาถูก มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นแต่สวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งและซื้อใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ฟาสต์แฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างมากมายเช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเติบโตอย่างน่าทึ่งในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ซึ่งส่งผลต่อความต้องการในการบริโภคเสื้อผ้าที่มาจากกระบวนการฟาสต์แฟชั่นของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รายงานของ United Nations Economic Commission for Europe (UNECE) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการสร้างงานมากกว่า 75 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อัตราการบริโภคเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นในอนาคตจะขยายตัวกว้างมากขึ้นในตลาดเสื้อผ้า เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างดี…