The Intelligence Weekly Review 11/02/2024
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
The Intelligence Weekly Review นำเสนอความเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละภูมิภาคให้ท่านผู้ฟังรู้ทันเหตุการณ์ เห็นความสำคัญ และนำมุมมองของเราไปใช้ประโยชน์กันต่อไป
เว็บไซต์ The Washington Post รายงานเมื่อ 7 ก.พ.67 อ้างกลุ่ม Kataib Hezbollah (KH) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธพลเรือนชีอะฮ์ในอิรักที่เป็นพันธมิตรของอิหร่าน เผยแพร่แถลงการณ์ไว้อาลัยนาย Wissam Muhammad Sabir Al-Saadi หรือ Abu Baqir Al-Saadi สมาชิกระดับแกนนำและผู้บัญชาการกองกำลัง KH ประจำซีเรีย ซึ่งเสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ชานกรุงแบกแดด อิรัก เมื่อช่วงค่ำวันเดียวกัน โดยกลุ่มฯ ยืนยันจะตอบโต้สหรัฐฯ และย้ำให้สหรัฐฯ ยุติการแทรกแซงในอิรัก ขณะที่กลุ่ม Harakat Hezbollah al-Nujaba (HHN) ในอิรัก และกลุ่ม Palestinian Islamic Jihad (PIJ) ของปาเลสไตน์ ออกแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ และยืนยันจะร่วมตอบโต้สหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอิรักมีจุดยืนที่มั่นคงและเข้มงวดต่อสหรัฐฯ ด้าน พล.ต. Tahseen Al Khafaji โฆษกกองบัญชาการปฏิบัติการร่วมในอิรัก ระบุว่า การโจมตีของสหรัฐฯ…
สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ รายงานเมื่อ 8 ก.พ.67 อ้างถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ(กต.)เกาหลีใต้ว่า เกาหลีใต้เสียใจอย่างยิ่งต่อบทสัมภาษณ์ของนาย Alexander Matsegora เอกอัครราชทูตรัสเซีย/กรุงโซล ที่เผยแพร่โดย สำนักข่าว TASS ของรัสเซียเมื่อ 7 ก.พ.67 โดยบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหากล่าวโทษความเคลื่อนไหวเชิงยั่วยุของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ทำให้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องตอบโต้และพัฒนานิวเคลียร์ อีกทั้งนาย Matsegora ยังเห็นด้วยหากเกาหลีเหนือจะรื้อฟื้นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อพิจารณาว่า สหรัฐฯ ดำเนินกิจกรรมยั่วยุบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โฆษก กต.เกาหลีใต้ย้ำว่า ความเคลื่อนไหวของเกาหลีใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงตามมาตรการปกป้องพลเรือน และจะขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากขึ้น หากรัสเซียกับเกาหลีเหนือยังคงดำเนินการที่เป็นภัยคุกคามทางทหาร
สำนักข่าว AFP รายงานเมื่อ 9 ก.พ.67 อ้างกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (CENTCOM) เผยแพร่แถลงการณ์ในวันเดียวกันนี้ว่า สหรัฐฯ โจมตีเรือผิวน้ำไร้คนขับ (USV) จำนวน 4 ลำ และระบบยิงอาวุธปล่อยต่อต้านเรือจำนวน 7 ลูก ในพื้นที่ควบคุมของกบฏ Houthi ในเยเมน เมื่อ 8 ก.พ.67 ระหว่างเวลา 05.00-21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเป็นการโจมตีเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับกองทัพเรือสหรัฐฯ และเรือพาณิชย์ เนื่องจากเชื่อว่ากบฏ Houthi เตรียมใช้ USV และอาวุธปล่อยดังกล่าวโจมตีเรือในทะเลแดง ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Saba News ของกบฏ Houthi รายงานเมื่อ 7 ก.พ.67 อ้างว่า สหรัฐฯ ร่วมกับสหราชอาณาจักร โจมตีเป้าหมายในพื้นที่ Ras Isa จ. Hodeida ชายฝั่งตะวันตก ติดทะเลแดงของเยเมนซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของกบฏ Houthi…
สำนักข่าว Japan Today รายงานเมื่อ 9 ก.พ.67 ว่า นายทามินามิ ทัตสึยะ หัวหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ 1 (Fukushima Daiichi Nuclear Power Station-FDNPS) ของบริษัท Tokyo Electric Power Company Holdings (TEPCO) เข้าพบเจ้าหน้าที่ จ.ฟูกูชิมะ เมื่อ 8 ก.พ.67 เพื่อทำความเข้าใจและขออภัยกรณีบริษัทตรวจพบว่า มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีปริมาตร 5.5 ตัน จากระบบบำบัดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของ FDNPS รั่วไหลลงสู่พื้นดิน เมื่อ 7 ก.พ.67 โดยมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนทั้งสิ้น 22,000 ล้านเบคเคอเรล (Becquerel-Bq) อย่างไรก็ดีบริษัทยืนยันว่ายังไม่มีบุคคลภายนอกได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว
สำนักข่าวแห่งชาติมาเลเซีย (เบอร์นามา) รายงานเมื่อ 8 ก.พ.67 ว่า ศาลมาเลเซียอนุมัติคำร้องขอหนังสือเดินทางคืนเป็นการชั่วคราวของตัน ศรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรี(นรม.) และประธานกลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง (Perikan Nasional-PN/กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศและยึดหนังสือเดินทางไว้ระหว่างการพิจารณาคดีรับสินบน และฟอกเงิน ขณะดำรงตำแหน่ง นรม.ห้วงปี 2563-2564 อดีต นรม. ให้เหตุผลในการขอหนังสือเดินทางคืนว่าต้องการเดินทางไปร่วมงานเปิดร้านอาหารของเพื่อนชาวมาเลเซีย (ไม่ระบุชื่อร้าน) ที่ กทม.ใน 15 ก.พ.67 และพบกับนักธุรกิจชาวมาเลเซียในไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยศาลกำหนดให้อดีต นรม.ต้องส่งคืนหนังสือเดินทางใน 23 ก.พ.67 ทั้งนี้ ศาลเคยอนุมัติให้ ตัน ศรี มูห์ยิดดิน เดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวที่สหราชอาณาจักร และตรวจสุขภาพที่สิงคโปร์ เมื่อ พ.ย.66
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Times of Israel รายงานอ้าง พล.ร.ต.Daniel Hagari โฆษกกองกำลังป้องกันอิสราเอล (Israel Defense Forces – IDF) แถลงเมื่อ 6 ก.พ.67 ยืนยันว่าตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮะมาสลักพาตัวและคุมขังในฉนวนกาซา เสียชีวิตแล้ว 31 ราย จากทั้งหมด 132-136 ราย โดยตัวประกันอย่างน้อย 27 ราย เสียชีวิตจากการถูกสังหารเมื่อ 7 ต.ค.66 ก่อนที่กลุ่มฮะมาสจะนำร่างผู้เสียชีวิตเข้าไปยังฉนวนกาซา นอกจากนี้ทหารอิสราเอลที่ถูกกลุ่มฮะมาสลักพาตัวตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 2 ราย เสียชีวิตแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ IDF ได้แจ้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลข่าวกรองที่ไม่ยืนยันว่า อาจมีตัวประกันเสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 ราย
สำนักข่าว Antara รายงานเมื่อ 7 ก.พ.67 อ้างถ้อยแถลงของนางเร็ตโน มัรซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังการพบหารือกับดาโต๊ะ ซรี อุตะมะ ฮาจิ โมฮาหมัด บิน ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เมื่อ 6 ก.พ.67 ที่กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย ว่า อินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย สานต่อกลไก ASEAN Troika ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ระหว่าง 2-7 ก.ย.66 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อ ผ่านการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการของประธานอาเซียนปีก่อน (อินโดนีเซีย) ประธานอาเซียนปัจจุบัน (ลาว) และประธานอาเซียนปีถัดไป (มาเลเซีย) พร้อมกับย้ำการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน เฉพาะอย่างยิ่งไทย ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance-AHA Centre)
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อ 5 ก.พ.67 ว่า ในวันเดียวกันนี้รัฐบาลจะเริ่มดำเนินมาตรการใหม่เพื่อต่อต้านการแพร่กระจายของการใช้สปายแวร์เชิงพาณิชย์ (commercial spyware) ในทางที่ผิด โดยจะจำกัดการตรวจลงตราหนังสือเดินทางต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าวที่มีเป้าหมายเพื่อสอดแนม คุกคาม ปราบปรามหรือข่มขู่บุคคลอื่นๆ รวมทั้งบุคคลที่เชื่อว่าอำนวยความสะดวกหรือได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการใช้สปายแวร์เชิงพาณิชย์ในทางที่ผิด กับทั้งย้ำว่า สหรัฐฯ กังวลต่อปัญหาดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งคุกคามสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามความมั่นคงและการต่อต้านข่าวกรองของสหรัฐฯ
เว็บไซต์ วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว รายงานเมื่อ 5 ก.พ.67 ว่า สนามบินสากลบ่อแก้ว (Bokeo International Airport) เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว (ตรงข้าม จ.เชียงราย) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันเดียวกัน โดยรัฐบาลลาวให้สัมปทานบริษัท Greater Bay Area Investment and Development (HK) Limited ดำเนินงานสนามบินในรูปแบบ Build Operate and Transfer (BOT) เป็นเวลา 50 ปี มูลค่าประมาณ 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนามบินมีพื้นที่มากกว่า 1,875 ไร่ เป็นสนามบินขนาด 4C (สนามบินระดับเล็ก) ทั้งนี้ สนามบินสากลบ่อแก้วเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญในข้อตกลงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และยุทธศาสตร์การพัฒนาแขวงบ่อแก้ว ซึ่งจะส่งเสริมการขนส่งทางอากาศระหว่างแขวงบ่อแก้วกับพื้นที่ต่าง ๆ ของลาวและต่างประเทศ อีกทั้งยังจะอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และการท่องเที่ยวในแขวงบ่อแก้ว