S&P Global Platts บริษัทของสหราชอาณาจักรที่ให้ข้อมูลด้านพลังงานชั้นนำของโลกรายงานเมื่อ 7 ก.พ.65 ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับบาร์เรลละ 92-93.52 ดอลลาร์สหรัฐ (ณ 7 ก.พ.65) และสูงสุดในรอบ 7 ปี เพราะทั่วโลกยังกังวลว่า อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขาดแคลน เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบโลก เฉพาะอย่างยิ่งภาคการขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ผู้ผลิตน้ำมันอาจผลิตน้ำมันดิบไม่ทันความต้องการ เช่น สหรัฐฯ ที่ความต้องการน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี แต่อุปทานน้ำมันดิบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย.63
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันยังประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงถึงระดับบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ เหมือนเมื่อ 9 ก.ย.57 ส่วนกรณีที่อิหร่านอาจส่งออกน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มอุปทานและฉุดให้ราคาน้ำมันดิบปรับลงยังคงไม่แน่นอน เพราะอิหร่านและสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเจรจาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์หลายเดือน ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากกรณีสหรัฐฯ อาจคว่ำบาตรรัสเซียกรณียูเครน ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบโลก ยังคงไม่แน่นอนเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย