ซีรี่ส์ She-Hulk: Attorney at Law (2565) ที่เริ่มทำการสตรีมมิ่งใน Disney Plus มา 6 ตอนแล้ว (ณ วันที่ 22 กันยายน 2565) ได้รับกระแสตอบรับที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด ในแง่ของความสนุกและแปลกใหม่ จนกระทั่งมาพบกับการวิจารณ์แง่ลบจากผู้ชมส่วนหนึ่ง ในประเด็นของฉากเต้นท้าย Credit ตอนที่ 3 ของตัว She-Hulk เอง (รับบทโดย Tatiana Maslany) กับ Megan Thee Stallion ศิลปินสาวชาวอเมริกันที่มารับเชิญเป็นตัวเองในซีรี่ส์นี้ ซึ่งเหมือนเป็นฉากสนุกสนานเอาฮาที่ไม่ได้มีผลกับเนื้อเรื่องเท่าใดนัก ตามสไตล์ของแฟรนไชส์ Marvel Cinematic Universe ที่มักจะมีการหยอดฉากท้าย Credit แบบทีเล่นทีจริงเช่นนี้
ทว่าการเต้น Twerk ที่เน้นการเขย่าสะโพกและบั้นท้ายของ She-Hulk กลับถูกนำไปวิจารณ์โดยเปรียบเทียบผ่านมีมว่า การเต้นเช่นนี้เป็นการลดคุณค่าของจักรวาลแฟรนไชส์ MCU อีกทั้งยังมีการยกตัวอย่างของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ชายที่เป็นตัวนำของทีม Avengers ในรุ่นก่อนเช่น Iron Man, Captain America หรือ Thor ในมาดจริงจังของเหล่ายอดบุรุษมาเสริม เพื่อเป็นการบอกว่าเพราะตัวละครเหล่านี้แหละที่ทำให้ภาพยนตร์ของ Marvel ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงของเหล่าแฟนภาพยนตร์อย่างมากในหลาย ๆ Platform โซเชียลมีเดียของต่างประเทศเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
แน่นอนว่าย่อมมีอีกกระแสที่ไม่เข้าใจว่าการเต้น Twerk ในฉากนั้นมันเป็นการด้อยค่าจักรวาลภาพยนตร์อย่างไร… และมีการหยิบยกฉากเต้นของภาพยนตร์ MCU ในเรื่องก่อน ๆ อย่างการเต้นของ Star-Lord (รับบทโดย Chris Pratt) ตัวเอกจาก Guardians of the Galaxy (2557) มาโต้แย้งกลุ่มที่แอนตี้ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมีปัญหากับการเต้นล่อศัตรูของ Star-Lord ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ดังกล่าวเลย หรือจะเป็นเพราะว่า Star-Lord นั้นเป็นเป็นฮีโร่ชาย แต่ส่วน She-Hulk คือฮีโร่หญิง เกิดเป็นการตั้งคำถามย้อนกลับต่อกระแสของคนที่แอนตี้
ตั้งแต่ภาพยนตร์ MCU เข้าสู่ช่วง Phase ที่ 4 เป็นต้นมา ได้มีการผลักดันเหล่าฮีโร่หญิงให้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Black Widow (2564) ภาพยนตร์เดี่ยวของนักแสดงสาวที่อยู่คู่กับ MCU มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ อย่าง Scarlett Johansson หรือซีรี่ส์ WandaVision (2564) ที่ทำให้ตัวละคร Scarlet Witch (รับบทโดย Elizabeth Olsen) ได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นตัวเอก หลังจากที่มีบทเป็นตัวละครสมทบในแฟรนไชส์ Avengers มาหลายภาค รวมถึงมีการแนะนำตัวละครหญิงใหม่ ๆ เช่น Kate Bishop (รับบทโดย Hailee Steinfeld) ที่จะมาแทนที่เป็นมือธนู Hawkeye คนต่อไป หรือ America Chavez (รับบทโดย Xochitl Gomez) เด็กสาวผู้มีพลังข้ามพหุจักรวาลใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2565) เป็นต้น
ความไม่พอใจของผู้ที่ไม่ชอบฮีโร่หญิงเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงการฉายซีรี่ส์ Ms. Marvel (2565) ที่มีการโดนรุมให้คะแนนก่อนฉาย หรือที่เรียกกันว่า Review Bomb ทั้งที่ยังไม่ทันได้รับชมแบบเต็ม ๆ ด้วยคะแนน 1/10 ผ่านเว็บไซต์ IMDB ที่สามารถเปิดให้คะแนนภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ได้อย่างอิสระ จากนั้นเรื่องที่โดน Review Bomb ต่อมาก็คือ She-Hulk ก่อนหน้าที่จะเกิดประเด็นท่าเต้นเสียอีก โดยข้อมูลจากตัวเว็บไซต์มีการระบุว่ากลุ่มที่ลงคะแนนแบบ Review Bomb นั้นล้วนเป็นเพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุน่าจะไม่ใช่แค่เพราะทั้งคู่เป็นฮีโร่หญิงอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเพราะตัวเนื้อหาของซีรี่ส์ส่งเสริมกระแส Woke หรืออาการตาสว่างถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดกับผู้หญิงด้วย เช่นในประเด็นด้านศาสนาของทาง Ms. Marvel และในวงการกฎหมายของ She-Hulk
จากกรณีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นในโลกตะวันตกที่มีความเจริญก้าวหน้า มีความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพแล้ว แต่แนวคิดล้าหลังเกี่ยวกับเรื่องชายเป็นใหญ่หรือ “ปิตาธิปไตย” (Patriarchy) ก็ยังคงมีอยู่
ระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย คือระบบสังคมที่เอื้อให้เพศชายมีอำนาจเหนือเพศอื่น เป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นเพศที่สามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรได้มากกว่าด้วยความเป็นชาย ส่วนผลกระทบที่ผู้หญิงจะได้รับ มีทั้งเรื่องของการถูกครอบครองแบบเจ้าชีวิต เช่นภรรยาจะมามีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจเท่ากับสามีที่เป็นคนทำงานหาเงินไม่ได้ การตบตีทำร้ายร่างกาย หรือกรณีที่เลวร้ายอย่างเช่นการถูกข่มขืน และในบางครั้ง สังคมกลับมีการโทษเหยื่อที่โดนข่มขืนเสียเองว่า “แต่งตัวล่อตะเข้ทำไมล่ะ” (ซึ่งต่อให้ผู้หญิงคนนั้นจะเปลือยกาย ก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปล่วงละเมิดเขาได้) เท่ากับเป็นการปกป้องคนผิดอย่างฝ่ายชาย
Karl Marx และ Friedrich Engels 2 นักปรัชญาผู้ร่วมกันวางรากฐานแนวคิดสังคมนิยม ได้เคยให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องปิตาธิปไตยเอาไว้ว่า ระบบทุนนิยมคือระบบชายเป็นใหญ่ เป็นระบบที่ทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่จนย่ำแย่กว่าผู้ขายแรงงาน และด้วยตรรกะของทุนที่ต้องแข่งขันกันครอบครองทรัพยากร ทำให้เกิดแนวคิดการแสดงความเป็นเจ้าของในตัวเพศหญิงขึ้นมาด้วย
ตัวละครที่ขับเคลื่อนแนวคิดโบราณนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพศชายเสมอไป คนที่คอยจับผิด เป็นตำรวจศีลธรรมแต่กับผู้หญิง สำรวจการแต่งตัว ความเป็นกุลสตรี จำกัดกรอบว่าผู้หญิงต้องเป็นเช่นนี้ ต้องทำแต่อาชีพแม่บ้านแม่เรือนเท่านั้น ไม่ควรไปเป็นผู้บริหารแบบที่ผู้ชายส่วนใหญ่เขาทำกัน คนเหล่านี้ก็คือคนที่สนับสนุนแนวคิดชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แม้กระทั่งการจำกัดว่าเกย์ต้องแสดงออกแบบเพศชาย ไม่ควรแต่งตัวหรือแสดงออกเป็นหญิงเหมือนกะเทยก็เช่นกัน
………..ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่เหล่าฮีโร่หญิงในสื่อกำลังเจอคือ การจำกัดความเป็นฮีโร่และให้สิทธิในการแสดงออกอย่างไรก็ได้กับฮีโร่ชาย
ปิตาธิปไตยอาจจะพบเห็นและจับต้องได้มากกว่าในวัฒนธรรมของแถบเอเชีย แต่ถ้าเป็นในตะวันตก สิ่งที่น่าจะชัดเจนที่สุดกับประเด็นเหยียดเพศคือการต่อต้านของกลุ่มสตรีนิยมหรือ Feminist อย่างไรก็ตามก็ไม่จำกัดว่าต้องมีแต่เพศหญิงที่จะเป็น Feminist กลุ่มคนที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมีได้ทั้งหญิงและชาย รวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ดังจะเห็นได้จากการออกมาเรียกร้องตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
……..การเกิดวัฒนธรรม Pride Month ในช่วงเดือนมิถุนายน มีจุดมุ่งหมายคือไม่ให้สังคมถูกผูกขาดโดยเพศใดเพศหนึ่ง ให้เกิดการสมรสเท่าเทียม การทำลายมายาคติที่ถูกมองว่าเป็นบาปเฉพาะเพศนั้น ๆ เช่นการทำแท้ง=บาปของผู้หญิง การไม่ใช้ชีวิตตามเพศสภาพแต่กำเนิดคือเรื่องผิด เป็นต้น ซึ่งด้วยการเคลื่อนไหวที่ตรงข้ามกับจารีตเช่นนี้ จึงทำให้มีการโจมตีบิดเบือนความเป็น Feminist ว่าเป็นพวกที่เกลียดผู้ชาย ต้องการจะขึ้นมามีอำนาจเหนือกว่า ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน Feminist ขึ้นโดยที่ไม่พยายามทำความเข้าใจเลย
การที่ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้แสดงความเก่งกาจแม้แต่ในสื่อบันเทิง น่าจะมีสาเหตุจากบทที่ทำให้ตัวละครชายในเรื่องดูกลายเป็นตัวตลกด้วย เช่นในตอนแรกของ She-Hulk ที่เล่าเรื่องในช่วงที่ Hulk หรือ Bruce Banner พยายามฝึก She-Hulk ที่เป็นญาติให้คุ้นชินกับการกลายร่างและใช้พลัง แต่ผลก็คือ She-Hulk สามารถเชี่ยวชาญทุกอย่างที่ Hulk สอนได้อย่างรวดเร็ว ทำได้ดีกว่า แม้แต่ควบคุมการกลายร่าง ที่ตัวละคร Hulk ใช้เวลานานมากในภาพยนตร์กว่าจะมีสติครบถ้วนได้ (ใช้เวลานับทศวรรษทั้งในภาพยนตร์และตามเวลาโลกจริงที่ภาพยนตร์ออกฉาย) ซึ่งอาจจะมองได้ว่าความพยายามของ Hulk กลายเป็นเรื่องน่าตลก โดยถ้าหากจะปิดโอกาสกันเพราะเรื่องนี้ก็ดูจะใจแคบกันเกินไป
ถ้าหากลองย้อนกลับไป ขณะที่ตัวละครชายได้รับบทบาทที่เขียนขึ้นให้เป็นวีรบุรุษมาเนิ่นนาน ตัวละครหญิงก็มักจะได้รับบทบาทที่แสดงแต่ความอ่อนแอ เป็นเจ้าหญิงที่ต้องรอแต่เจ้าชายมาช่วย ตัวละครที่เป็น LGBTQ+ ก็มักจะได้รับแต่บทบาทของตัวตลก
……….เมื่อพลวัตของโลกเปลี่ยน การแสดงออกต่าง ๆ ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา จะมองว่ามันเป็นเรื่องจริงจังหรือสีสันนั้นก็สุดแท้แต่มุมมอง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การนำเสนอว่า “ทุกเพศล้วนแข็งแกร่งได้อย่างเท่าเทียมกัน” การทำให้ตัวละครชายดูตลกไม่ได้หมายความว่าเขาไม่แข็งแกร่ง ไม่มีศักดิ์ศรี มันเป็นแค่บทบาทในช่วงหนึ่ง ในความเป็นจริงเองก็เช่นกัน ทุกเพศมีทั้งช่วงเวลาที่แข็งแกร่งและอ่อนแอ รวมถึงสัจธรรมที่ว่าเหนือฟ้าย่อมมีฟ้า คนที่เก่งกว่าเรามีอยู่เสมอ ไม่ว่าเป็นเพศใดก็ตาม เราไม่ควรให้คำว่า “เจ้าโลก” มันกลายเป็น “ศูนย์กลางจักรวาล” ที่ผูกขาดและควบคุมทุกอย่าง
อ้างอิง
https://workpointtoday.com/she-hulk/
https://themomentum.co/feature-myths-of-gender-equality/
https://www.prachachat.net/d-life/news-563063
https://thestandard.co/pride-month/
https://www.youtube.com/watch?v=A-Cwx0R81Dg&t=1222s
https://prachatai.com/journal/2022/02/97301
https://screenrant.com/she-hulk-review-bombs-worse-ms-marvel/