ไต้หวันเป็นพื้นที่แข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย เป็นหนึ่งในดินแดนที่เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็น และเป็นดินแดนที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของอำนาจอธิปไตย ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1949 เมื่อจอมพลเจียง ไคเชก จำเป็นต้องถอยหลังไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน โดยหวังว่าสักวันจะกลับมาครองจีนแผ่นดินใหญ่ให้ได้ ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี ร่างไร้วิญญาณของจอมพลเจียง ไคเชก ยังอยู่บนเกาะไต้หวัน กับสถานะของสาธารณรัฐจีน หรือ Republic of China ที่เลือนราง
คำถามสำคัญนอกจากสถานะการเป็นรัฐที่สมบูรณ์ของไต้หวันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือคนบนเกาะไต้หวันคิดว่าตนเองเป็นใคร เป็นคนจีน เป็นคนไต้หวัน หรือเป็นทั้งคนจีนและคนไต้หวัน ศูนย์ศึกษาการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) เป็นหน่วยงานที่สำรวจอัตลักษณ์ของคนบนเกาะไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ซึ่งเป็นปีแรกที่คนบนเกาะไต้หวันสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง ภายหลังอยู่ใต้กฎอัยการศึกและรัฐบาลแบบเผด็จการพรรคเดียวคือพรรคก๊กมินตั๋ง โดยทำการสำรวจอัตลักษณ์เป็นประจำทุกปี
ผลสำรวจล่าสุดเมื่อ มิถุนายน 2022 พบว่าประชาชนบนเกาะไต้หวันคิดว่าตนเองเป็นคนไต้หวันถึงร้อยละ 63.7 คิดว่าเป็นทั้งคนจีนและคนไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ 30.4 และคิดว่าตนเองเป็นคนจีนเพียงร้อยละ 2.4
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน และความเชื่อมโยงหรือความผูกพันกับแผ่นดินใหญ่ลดลงตลอดเวลา หากสังเกตผลการสำรวจในครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน คือใน ค.ศ.1992 ตอนนั้นคนบนเกาะไต้หวันคิดว่าเป็นทั้งคนจีนและคนไต้หวันมากที่สุด เนื่องจากพึ่งผ่านยุคเผด็จการมาคนในสมัยนั้นจึงมีความเชื่อที่ผูกพันกับการเป็นคนจีนในนามสาธารณรัฐจีน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป รวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลซึ่งพรรคมีพื้นฐานความคิดในเรื่องความเป็นคนไต้หวัน และการไม่ยึดโยงกับแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนสนับสนุนหนทางการเป็นเอกราช ทำให้กระแสความเป็นคนไต้หวันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับคนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่พร้อมกับจอมพลเจียง ไคเชก ได้เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ความผูกพันต่อแผ่นดินใหญ่ลดลง
นอกจากนี้มาตรการที่รัฐบาลปักกิ่งมีต่อไต้หวันก็ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับคนไต้หวัน เช่น การลดบทบาทในเวทีต่างประเทศของไต้หวัน การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มาเยือนไต้หวันในช่วงรัฐบาลปัจจุบันของไช่ อิงเหวิน หรือสิ่งที่จีนทำต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในฮ่องกง การกระชับอำนาจและทำเสมือนว่าแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบกำลังจะจบลงในเร็ววัน ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีนในสายตาชาวไต้หวันและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 2020 นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ที่ทำให้เห็นว่าไต้หวันยังมีมหาอำนาจที่คอยสนับสนุน และคนไต้หวันก็มีความภาคภูมิใจในประชาธิปไตยของตน และต้องการที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่ตนมีไว้
……………….ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จีนต้องคิดหนักหากจะยึดครองไต้หวัน แม้ว่ากำลังอำนาจทางทหารของจีนนั้นจะเหนือกว่าไต้หวัน แต่การปกครองคนที่มีอิสระเสรีภาพและมีแนวโน้มต่อต้านการปกครองอำนาจนิยมอีกด้วย เป็นโจทย์ที่สำคัญที่จีนต้องคิด…เพราะคนบนเกาะไต้หวันไม่ได้อยู่ในกรอบที่พรรคคอมมิวนิสต์ครอบไว้ และคนในไต้หวันก็ยังมีความภูมิใจในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเสรีภาพ อิสรภาพและประชาธิปไตยชั้นนำของโลก
: โดย อัคพงษ์ สิทธิวงศ์