สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน
(Republic of South Sudan)
เมืองหลวง จูบา
ที่ตั้ง ในเขต Sahel ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา อยู่ระหว่างละติจูด 3-13 องศาเหนือ กับลองจิจูด 24-36 องศาตะวันออก พื้นที่ 644,329 ตร.กม. มีชายแดนทางบกยาว 6,018 กม. และเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับซูดาน 2,158 กม.
(ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสถานะเขตแดนพื้นที่ Abyei)
ทิศใต้ ติดกับเคนยา 317 กม. ยูกันดา 475 กม. และคองโก 714 กม.
ทิศตะวันออก ติดกับเอธิโอเปีย 1,299 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง 1,055 กม.
ภูมิประเทศ เป็นที่ราบทางตอนเหนือและภาคกลางของประเทศก่อนยกตัวขึ้นเป็นที่ราบสูงด้านพรมแดน ที่ติดกับเคนยาและยูกันดา มีแม่น้ำ White Nile ไหลผ่านตอนกลางของประเทศจากภาคใต้ (ยูกันดา) ไปทางเหนือ ผ่านพรมแดนเข้าไปในซูดานเหนือ ทำให้เซาท์ซูดานมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จุดที่สูงที่สุดของประเทศอยู่ที่ภูเขา Kinyeti มีความสูง 3,187 ม. เหนือระดับน้ำทะเล
วันชาติ 9 ก.ค. วันประกาศเอกราชจากซูดานเมื่อปี 2554
Salva Kiir Mayardit
(ประธานาธิบดีเซาท์ซูดาน)
ประชากร 10,984,074 คน (ก.ค.2564)
รายละเอียดประชากร ชาว Dinka 35.8% ชาว Nuer 15.6% และชาว Shilluk, Azande, Bari, Kakwa, Kuku, Murle, Mandari, Didinga, Ndogo, Bviri, Lndi, Anuak, Bongo, Lango, Dungotona, Acholi, Bako และ Fertit อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 41.58% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 55.88% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.53% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 58.6 ปี เพศชาย 56.92 ปี เพศหญิง 60.36 ปี อัตราการเกิด 38.26 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 9.84 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 5.05%
การก่อตั้งประเทศ อียิปต์พยายามยึดครองพื้นที่ที่เป็นเซาท์ซูดานในช่วงทศวรรษ 1870 แต่เกิดเหตุการณ์ Islamic Mahidist Revolution ในพื้นที่เมื่อ พ.ย.2428 และสหราชอาณาจักรเข้าปราบปรามกลุ่ม Mahidist ได้เมื่อปี 2441 และตั้งประเทศซูดานภายใต้การปกครองร่วมระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียิปต์เมื่อปี 2442 ในช่วงดังกล่าวนักบวชชาวคริสต์ได้เข้าเผยแผ่ศาสนาและนำภาษาอังกฤษเข้าไปใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อซูดานได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2499 เซาท์ซูดานจะได้ปกครองตนเอง แต่รัฐบาลซูดานไม่ยินยอม ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองถึง 2 ครั้ง ระหว่างปี 2498-2515 และระหว่างปี 2526-2548 ส่งผลให้ประชาชนเผชิญกับความอดอยากและความแห้งแล้ง และต้องเสียชีวิตมากกว่า 2.5 ล้านคน จนกระทั่งมีการลงนาม
ความตกลง Comprehensive Peace Agreement (CPA) เมื่อ ม.ค.2548 ทำให้สงครามกลางเมืองยุติลง ความตกลง CPA ยังกำหนดให้เซาท์ซูดานได้สิทธิในการปกครองตนเองระหว่างปี 2548-2554 ก่อนจัดการ ลงประชามติให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะรวมอยู่กับซูดานต่อไปหรือไม่ ซึ่งการลงประชามติเมื่อ ม.ค.2554 ประชาชน 98% เลือกที่จะปกครองตนเอง นำมาสู่การประกาศเอกราชเมื่อ 9 ก.ค.2554
ต่อมา เมื่อ ธ.ค.2556 เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างประธานาธิบดี Salva Kiir Mayardit ซึ่งเป็นชนเผ่า Dinka (ชนส่วนใหญ่ของเซาท์ซูดาน) กับรองประธานาธิบดี Riek Machar ซึ่งเป็นชนเผ่า Nuer (มีมากเป็นลำดับ 2 ในเซาท์ซูดาน) โดยประธานาธิบดี Kiir กล่าวหาว่ารองประธานาธิบดี Riek พยายามจะยึดอำนาจ ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีทหารยูกันดาเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Kiir เพื่อต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยรองประธานาธิบดี Riek ต่อมาในช่วงปี 2557-2558 มีการเจรจาสันติภาพระหว่างสองฝ่ายหลายครั้ง โดยมีองค์กรด้านการค้าของประเทศในแอฟริกาตะวันออก (Inter-Governmental Authority On Development-IGAD) ช่วยไกล่เกลี่ย ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงที่แอดดิสอาบาบา เอธิโอเปีย และนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติภาพเมื่อ ส.ค.2558 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้รองประธานาธิบดี Riek เป็นรองประธานาธิบดีต่อไป แต่ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี Salva Kiir Mayardit และรองประธานาธิบดี Riek ยังคงมีอยู่ ต่อมาประธานาธิบดี Salva Kiir Mayardit ได้ปลดนาย Riek ออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี เมื่อ 10 ก.ค.2559 และแต่งตั้งนาย Taban Deng Gai เป็นรองประธานาธิบดีแทน โดยนาย Riek หลบหนีออกนอกประเทศ ต่อมาเมื่อ 12 ก.ย.2561 มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ และเมื่อ 22 ก.พ.2563 มีการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ ขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลบางกลุ่มไม่ยอมรับและยังคงสู้รบ
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขและหัวหน้ารัฐบาล มาจาก การเลือกตั้งโดยตรง วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกัน (การประชุม National Dialogue ระหว่าง 3-17 พ.ย.2563 มีมติให้ขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งจาก 4 ปี เป็น 5 ปี) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Salva Kiir Mayardit ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 ก.ค.2554
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร แต่งตั้ง นรม. และ ครม. โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อ 11-15 เม.ย.2554 นาย Salva Kiir Mayardit ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 93% การเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเดิมกำหนดเมื่อปี 2558 แต่ประกาศเลื่อนมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นปี 2561 ปี 2564 และล่าสุดเลื่อนเป็นปี 2566
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) สภา Council of State มีสมาชิกจำนวน 50 คน ตั้งขึ้นตามคำสั่งประธานาธิบดี เมื่อ ส.ค.2554 มีหน้าที่สำคัญคือ ให้ความเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวกับ การบริหารประเทศ ออกข้อมติและคำสั่งที่เป็นการแนะนำรัฐบาล กำกับดูแลและติดตามกระบวนการฟื้นฟูประเทศและสวัสดิการสังคมที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และ 2) สภา National Legislative Assembly มีสมาชิกจำนวน 400 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 170 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร โดยมีสิทธิออกเสียงไม่ไว้วางใจรองประธานาธิบดีและ รมว. อนุมัติแผน นโยบาย และงบประมาณแผ่นดิน ให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ สมาชิกรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2564
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบศาลคู่ ซึ่งเป็นระบบที่มีทั้งศาลยุติธรรมและศาลพิเศษ โดยเซาท์ซูดาน มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น และศาลจารีตประเพณี
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Sudan People’s Liberation Movement (SPLM) ของประธานาธิบดี Kiir เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันและครองเสียงข้างมากในรัฐสภา (มี ส.ส.ของพรรคได้รับเลือกตั้งเมื่อ เม.ย.2553 จำนวน 160 คน จากทั้งหมด 170 คน) พรรค Democratic Change (DC) เดิมคือพรรค Sudan People’s Liberation Movement-Democratic Change (มี ส.ส.ของพรรคได้รับเลือกตั้ง 4 คน) ส.ส.ที่เหลืออีก 6 คน ไม่สังกัดพรรคการเมือง และพรรค South Sudan People’s Liberation Movement In Opposition (SPLM-IO) ของอดีตประธานาธิบดี Riek
เศรษฐกิจ เศรษฐกิจของเซาท์ซูดานยังคงเชื่อมโยงกับซูดาน โดยสินค้าและเงินทุนหลักของประเทศส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากซูดานและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ยูกันดา และเคนยา ส่วนการส่งออกน้ำมันทางท่อของเซาท์ซูดานยังต้องพึ่งพาท่าเรือซูดาน นอกจากนี้ การที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง (ปี 2556-2558) และการสู้รบระหว่างชนเผ่ามาเป็นเวลานาน ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากถึง 2.2 ล้านคน และประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตนอกจากนี้ รัฐบาลใช้งบประมาณส่วนใหญ่ในการพัฒนากองทัพ จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญไม่ได้รับการพัฒนา เช่น เส้นทางคมนาคมในประเทศ ระบบไฟฟ้าต้องใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ และระบบน้ำประปามีจำกัด ดังนั้น เซาท์ซูดานจึงต้องเปิดรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการพัฒนาด้านเกษตรกรรมจากธนาคารโลกและประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ มาตั้งแต่ปี 2548 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลเซาท์ซูดานต้องการลดการพึ่งพาซูดานในการส่งออกน้ำมัน จึงใช้นโยบายการขยายความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เอธิโอเปีย ยูกันดา และเคนยา โดยได้ร่วมกับเคนยาผ่านการรับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนและญี่ปุ่น ในการวางแผนสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบระยะทางประมาณ 1,400 กม. จากเซาท์ซูดานมายังท่าเรือเมืองลามู ทางตอนเหนือของเคนยา
เซาท์ซูดานเป็นผู้ผลิตน้ำมันสำคัญของแอฟริกา และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จึงสามารถผลิตน้ำมันได้อย่างอิสระโดยปราศจากการถูกจำกัดเพดานการผลิตและมีประเทศต่าง ๆ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส จีน อินเดีย มาเลเซีย เข้าลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันในเซาท์ซูดาน โดยการผลิตน้ำมันดิบของเซาท์ซูดานเป็นแหล่งที่มาของรายได้ภาครัฐถึง 98%
เศรษฐกิจของเซาท์ซูดานฟื้นตัวขึ้นหลังจากการลงนามข้อตกลง Revitalized Peace เมื่อปี 2561 แต่เริ่มถดถอยลงอีกครั้ง เนื่องจากเผชิญปัญหาตั๊กแตนทะเลทราย อุทกภัย และปัญหา COVID-19 ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลและค่าเงินปอนด์เซาท์ซูดานอ่อนค่าลง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์เซาท์ซูดาน (South Sudanese Pounds) หรือ SSP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 130.26 ปอนด์เซาท์ซูดาน
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 3.9 ปอนด์เซาท์ซูดาน (ธ.ค.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 3,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 4.1%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 274.34 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 4,753,851 คน
อัตราการว่างงาน : 12.7% (ปี 2561)
อัตราเงินเฟ้อ : 27.1%
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าว ลูกเดือย ข้าวสาลี กัมอาหรับ อ้อย มะม่วง มะละกอ กล้วย
การส่งออก : 3,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)
การนำเข้า : 3,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)
สินค้าส่งออก : น้ำมันดิบ
ทรัพยากรธรรมชาติ : น้ำมันดิบ
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณด้านการทหาร 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.25% ของ GDP (ปี 2563) กำลังพลรวม 185,000 นาย ปัจจุบัน กกล.รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN Mission in the Republic of South Sudan-UNMISS) ยังประจำการในเซาท์ซูดาน โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ขยายระยะเวลาของ UNMISS ออกไปจนถึง 15 มี.ค.2564 UNMISS มีกำลังพลรวม 15,446 คน โดยเมื่อ 23 ธ.ค.2561 ไทยส่งกำลังของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจเข้าร่วมภารกิจของ UNMISS จำนวน 273 คน พื้นที่ปฏิบัติงานหลักอยู่ที่จูบาและรัมเบค จบภารกิจเมื่อ 21 ก.ย.2563 รวมระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน และกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจฯ ผลัดที่ 2 จำนวน 273 นาย ออกเดินทางไปยังเซาท์ซูดานเพื่อรับช่วงภารกิจ เมื่อ 20 ก.ย.2563 ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำของสหประชาชาติ
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ รถถังหลัก (MBT) รวมมากกว่า 80 คัน (รุ่น T-55 ไม่ปรากฏจำนวน รุ่น T-72AV จำนวน 80 คัน) รถลาดตระเวนหุ้มเกราะ (PPV) รุ่นต่าง ๆ ไม่ปรากฏจำนวน ปืนใหญ่รุ่นต่าง ๆ ไม่ปรากฏจำนวน อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ (SAM) ไม่ปรากฏจำนวน
ทอ. ได้แก่ บ.ลำเลียง (TPT) แบบเบา รุ่น Beech 1900 จำนวน 1 เครื่อง ฮ.โจมตี (ATK) รุ่น Mi-24V Hind จำนวน 2 เครื่อง รุ่น Mi-24V-SMB Hind จำนวน 3 เครื่อง ฮ.อเนกประสงค์ (MRH) รุ่น Mi-17 Hip H จำนวน 9 เครื่อง
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เซาท์ซูดานพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศ และพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งทางด้านการเงิน อาหาร และยา ซึ่งเงินช่วยเหลือที่ เซาท์ซูดานได้รับยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
2) วิกฤตด้านมนุษยธรรม ความรุนแรง ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัย และปัญหา COVID-19 โดยคาดว่าในห้วงปี 2564 มีประชากรประมาณ 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากรทั้งหมด กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร เฉพาะอย่างยิ่งในรัฐ Jonglei รัฐ Northern Bahr-el-Ghazal รัฐ Warrap และเขตปกครอง Pibor
3) ผู้ลี้ภัยชาวเซาท์ซูดานจำนวน 2,189,365 คน ที่ลี้ภัยการสู้รบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ยูกันดา 885,171 คน และซูดาน 729,557 คน นอกจากนี้ยังอยู่ที่เอธิโอเปีย 362,787 คน เคนยา 122,449 คน และคองโก 89,401 คน (ต.ค.2563 ของ UNHCR)
4) ปัญหาทางการเมือง แม้มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งทำให้การก่อเหตุรุนแรงลดลงอย่างมาก แต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมีพัฒนาการอย่างล่าช้า ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงมีความไม่แน่นอน รวมทั้งมีการก่อเหตุประท้วงทางการเมืองบ่อยครั้ง
ความสัมพันธ์ไทย-เซาท์ซูดาน
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยรับรองเซาท์ซูดานอย่างเป็นทางการตามมติ ครม. เมื่อ 6 ก.ย.2554 โดยไทยและเซาท์ซูดานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อ 5 ธ.ค.2556 และฝ่ายไทยมอบหมายให้ สอท.ไทย/ไนโรบี เคนยา เป็นจุดติดต่อกับเซาท์ซูดาน โดยกำหนดให้มีเขตอาณาครอบคลุมเซาท์ซูดาน ส่วนเซาท์ซูดานมอบหมายให้ สอท.เซาท์ซูดาน/เคนยา เป็นจุดติดต่อกับไทย
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
บริษัทก่อสร้างไทยและแรงงานไทยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างถนนในดินแดนของเซาท์ซูดานตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชจากซูดานจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลของไทยซึ่งมีสำนักงานอยู่ในไนโรบี เคนยา เข้าไปขายเครื่องขุดเจาะน้ำบาดาลในเซาท์ซูดานแล้ว
เมื่อปี 2563 การค้าระหว่างไทย-เซาท์ซูดาน มีมูลค่า 6.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปเซาท์ซูดาน 6.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเซาท์ซูดาน 0.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าเซาท์ซูดาน 6.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง ม.ค.-ต.ค.2564 การค้าไทย-เซาท์ซูดาน มีมูลค่า 2.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปเซาท์ซูดาน 2.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเซาท์ซูดาน 0.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าที่ไทยส่งออกไปเซาท์ซูดานเมื่อปี 2563 ได้แก่ ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเซาท์ซูดานเมื่อปี 2563 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และสิ่งพิมพ์
ด้านการท่องเที่ยว ปี 2563 มีผู้ที่เดินทางจากเซาท์ซูดานมาไทย จำนวน 15 คน ทั้งนี้ ปี 2563 มีคนไทยในเซาท์ซูดานรวม 366 คน
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) การบริหารประเทศของรัฐบาลเอกภาพที่ตั้งขึ้นตามข้อตกลงสันติภาพ
2) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การคอร์รัปชัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หดตัว ตามที่มีการกำหนดแนวทางไว้เมื่อลงนามในข้อตกลงสันติภาพ เมื่อ ก.พ.2563
3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และความพยายามหาเส้นทางส่งออกน้ำมันที่ไม่พึ่งพาเฉพาะท่าเรือของซูดาน
4) การฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปัญหาสงครามกลางเมือง ปัญหาสู้รบแย่งชิงอำนาจทางการเมือง และความขัดแย้งจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม