สัปดาห์นี้มีเหตุการณ์สำคัญที่อาจต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ คือการที่ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกมาประชุมและตกลงกันได้ครั้งแรกที่จะเปลี่ยนผ่านออกไปจากการใช้พลังงานจากฟอสซิล แค่มีการเอ่ยคำว่าจะเลิกใช้ “ฟอสซิล” ออกมาได้ก็ถือว่าคืบหน้าแล้วในรอบ 28 ปี
ในการประชุม COP28 ซึ่งเป็นเวทีประชุมด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่สุดของโลกที่นครดูไบ ตกลงกันได้ว่าจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050
เชื้อเพลิงหลักที่มาจากฟอสซิลมี 3 ตัว คือน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ทั้ง 3 ตัวนี้เป็นตัวการปล่อยก๊าซ 3 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมดในโลก อีกทั้งยังปล่อยก๊าซพิษที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบหลายชนิดรวมทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่อาละวาดอยูู่นอกบ้านของเราในขณะนี้ โดยก๊าซเรือนกระจกมีผลทำให้อุณภูมิของโลกสูงขึ้นนำมาซึ่งสภาพอากาศที่วิปริต พายุรุนแรง น้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศหนาวจัด ร้อนจัด และไฟป่าซึ่งชาวโลกเริ่มตระหนักถึงภัยตัวนี้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว จึงเกิดเวทีพูดคุยกันเพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจกของโลก เดิมทีจะคุยกันทุกๆ 5 ปี แต่หลังมาก็คุยกันทุกปีเนื่องจากเห็นว่าปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น แม้กระนั้นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯและจีนต่างก็อิดออดไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมเพราะจะเสียผลประโยชน์แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าจะจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 c
ประเด็นที่เถียงกันมากคือการทำให้ตัวเชื้อเพลิงมีคุณภาพสะอาดขึ้นกับการกำจัดหรือลดการปล่อยก๊าซเสียเนื่องจากแต่ละตัวมีค่าใช้จ่ายที่ไม่มีประเทศใดอยากควักกระเป๋าจึงไปเกี่ยงให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซเสียแทนจึงทำให้เถียงกันไม่รู้จบ แม้แต่คำว่า ค่อยๆ “เลิก” ก็เกี่ยงให้ใช้คำว่าค่อย “ลด” แทน แต่ก็ยังดีที่ตกลงกันได้ว่าจะค่อยๆ “เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีแม้ว่าจะมีคนเห็นว่านี่คือช่องว่างให้มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปได้หากมีเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน
สำหรับประเทศไทยเรา ทุกฝ่ายต่างกังวลกับสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษปกคลุมไปท้่วประเทศซึ่งถ้าหากว่าเป็นในกรุงเทพมหานครสาเหตุหลักมาจากการปล่อยควันเสียของยานพาหนะและการจราจรขนส่งแต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็มาจากการเผาพืชผลการเกษตรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่เห็นความพยายามแก้ไขของรัฐบาลตอนนี้คือการสานต่อแผนแม่บทในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษสมัยรัฐบาลก่อนด้วยการร่างกฎหมายควบคุมอากาศสะอาดขึ้นมาซึ่งตอนนี้ผ่าน ค.ร.ม.ไปอยู่ที่กฤษฎีกาแล้วน่าจะเข้าสู่สภาและประกาศเป็นกฎหมายได้ในปีหน้า ภายใต้กฎหมายนี้จะมีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมากำกับดูแลการแก้ปัญหาจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงให้มีกลไกแก้ปัญหาระหว่างประเทศเน้นที่การจัดเก็บภาษีจากเอกชนที่ไปลงทุนการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านแล้วมีการเผาไร่เผาป่าเพื่อทำการเกษตรนั้น
สำหรับยานพาหนะ ที่จริงเราประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตามแบบยุโรปไปแล้วแต่ภาคเอกชนยังไม่พร้อมเนื่องจากโควิดจึงต้องเลื่อนไปบังคับใช้ในปีหน้าซึ่งตามมาตรฐานดังกล่าวทั้งน้ำมัน และเครื่องยนต์ จะถูกควบคุมให้มีการปล่อยไอเสียได้ไม่เกินที่มาตรฐานกำหนดซึ่งถ้าทำได้ก็จะลดฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ลงได้ 5 เท่า
แม้ว่าโลกจะตกลงกันได้ระดับหนึ่งในการร่วมกันแก้ปัญหาการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแต่ก็ยังเหมือนกับไม่มีอะไรเลยนอกจากคำพูดและลมปาก ยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรการเฉพาะเจาะจงลงไปว่าจะต้องทำอะไรก่อน? และใครต้องทำ? ต้องไม่ลืมว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งไกลตัว แต่เป็นวิกฤตและวิกฤตนี้ก็อยู่กับเราแล้วตอนนี้ เหมือนกับที่แต่ละคนออกบ้านไปก็เห็นอากาศพิษ นี่คือผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคนทุกชาติพันธุ์ที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวของประเทศใด พวกใด หรือคนใดคนหนึ่ง
Credit TB-TALK facebook