ก.พ.67 ก็จะครบ 2 ปี ที่รัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน แต่ก็ยังยึดครองยูเครนไม่ได้ การตอบโต้ระหว่างกันไม่มีสัญญาณจะยุติ ความสูญเสียทั้งสองฝ่ายจะยังมีต่อไป เพราะรัสเซียมีเป้าหมายที่จะครอบครองดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนให้ได้ ขณะที่ยูเครนก็ยืนหยัดว่ารัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครน และยังเลือกใช้ ประเทศตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร หนุนหลัง และยุโรป ในการสู้รบกับรัสเซีย
การเดินทางไปสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนระหว่าง 11-12 ธ.ค.66 แม้ยังไม่ได้รับคำมั่นระหว่างพบกับประธานสภาผู้แทน และ สว.คนสำคัญ ๆ ว่า ยูเครนจะได้เงินช่วยเหลือประมาณ 61.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประธานาธิบดีโจซฟ ไบเดนขอเป็นงบฉุกเฉินจากรัฐสภาไว้ แต่ระหว่างพบหารือกันเมื่อ 12 ธ.ค.66 ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีไบเดนได้แจ้งกับประธานาธิบดียูเครนว่าได้อนุมัติเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบของกระทรวงกลาโหมให้ไปก่อน (นับแต่เกิดสงครามสหรัฐอเมริกาให้เงินช่วยเหลือยูเครนแล้ว 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประธานาธิบดียูเครนยังเดินทางต่อไปยังนอร์เวย์ และจะพบกับผู้นำนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ เพื่อขอเสียงสนับสนุน
ประธานาธิบดียูเครนยังมีความหวังว่า หากประชาคมระหว่างประเทศไม่หยุดให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและยุทโธปกรณ์ ยูเครนก็จะสามารถต้านทานรัสเซียได้ ซึ่งหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลในห้วงที่ประธานาธิบดียูเครนเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ว่า รัสเซียสูญเสียทหารจำนวนมากในการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนประมาณ 315,000 นาย และสงครามกับยูเครน ทำให้การพัฒนากองทัพของรัสเซียให้ทันสมัยถอยหลังไปอีก10 กว่าปี
ยูเครนยังเดินหน้าทำสงครามกับรัสเซียต่อไป ขณะที่รัสเซียจะไม่ถอนทหารออกจากยูเครนโดยง่าย แต่ชาวยูเครนอาจต้องเผชิญความยากลำบากในช่วงฤดูหนาว หากการกล่าวเตือนประธานาธิบดีไบเดนต่อประธานาธิบดียูเครนในช่วงที่พบกันล่าสุดว่า เป็นจริงที่ว่า ประธานาธิบดีรัสเซียมีแผนจะใช้จรวดโจมตีโรงงานไฟฟ้าของยูเครน เพื่อหวังว่าจะให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวยูเครนที่จะไม่มีไฟฟ้าใช้ และต้องเผชิญกับความหนาวเย็นอย่างรุนแรง