สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสทางกายภาพที่เริ่มเมื่อ 7 ต.ค.66 ขยายวงไปเรื่อย ๆ จนเพิ่มคู่ขัดแย้งที่เป็นกลุ่มที่ชาติตะวันตกกล่าวหาว่าอิหร่านให้การสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ที่กำลังตอบโต้กับอิสราเอลในทางตอนใต้ของเลบานอน และกลุ่มกบฏฮูษีที่ยังขู่จะโจมตีเรือในทะเลแดงต่อไป ซึ่งทำให้บริษัทชิปปิ้งขนาดใหญ่ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่ง สงครามทางไซเบอร์ก็ยังเข้มข้นอีกด้วยเช่นกัน และดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วว่า หากมีสงคราม หรือความขัดแยังระหว่างกัน การโจมตีทางไซเบอร์ฝ่ายตรงข้ามต้องมีควบคู่ไปด้วย เพื่อชิงความได้เปรียบเพื่อจารกรรมข้อมูล หรือทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอลง รวมทั้งสร้างความตื่นตระหนกได้อย่างดีทีเดียว
ข่าวสารต่างประเทศตั้งแต่ช่วงกลาง ธ.ค.66-ต้น ม.ค.67 รายงานการมุ่งโจมตีกันไปมาในโลกไซเบอร์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ถูกอ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับหน่วยข่าวกรองทางทหารของอิสราเอล ซึ่งเรียกตัวเองว่า Gonjeshke Darande (Predatory Sparrow) โจมตีระบบของสถานีให้บริการน้ำมันของอิหร่าน เมื่อ 18 ธ.ค.66 จนทำให้สถานีให้บริการน้ำมันของอิหร่านร้อยละ 60-70 จากทั้งหมด 33,000 แห่ง ต้องเปลี่ยนไปให้บริการด้วยระบบดั้งเดิม แต่แฮ็กเกอร์กลุ่มนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มใหม่ที่โจมตีอิหร่าน ก่อนหน้านี้ เมื่อ ม.ค.66 ก็เคยโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทสื่อสารแห่งชาติของอิหร่าน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเลบานอนยังเชื่อว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่อิสราเอลหนุนหลังโจมตีระบบของสนามบินเบรุต ในเลบานอนเมื่อ 8 ม.ค.67 โดยขึ้นข้อความบนหน้าจอที่แจ้งเที่ยวบินของสนามบิน
ฝ่ายอิสราเอลก็ถูกแฮ็กเกอร์โจมตีเช่นกัน โดยมีรายงานว่าในช่วงหลายเดือนก่อนสิ้นปี 2566 Cyber Toufan ซึ่งเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เชื่อว่าอิหร่านให้การสนับสนุน โจมตีระบบและขโมยข้อมูลของภาครัฐและเอกชนของอิสราเอลประมาณ 100 แห่ง แต่ที่น่ากังวลก็คือ Cyber Toufan อาจไม่ได้ทำงานคนเดียว ยังมีการร่วมมือกับแฮ็กเกอร์กลุ่มอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ National Cyber directorate ของอิสราเอลยืนยันเมื่อต้น ธ.ค.66 ว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์ Malek Team ที่อิหร่านให้การสนับสนุนประสบความสำเร็จในการโจมตีระบบของ Ziv Medical Center ที่เมือง Safed (อยูใกล้ชายแดนเลบานอนและซีเรีย) ซึ่งทำให้ระบบของโรงพยาบาลที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อ หยุดชงักไปช่วงหนึ่ง และ Malek Team ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ และประวัติการใช้ยา ออกมาเป็นการยืนยัน
สงคราม/ความขัดแย้งที่เกิดควบคู่กับการโจมตีทางไซเบอร์ แม้ต่อไปจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ตื่นตระหนก ช่วงชิงความได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม และไม่รู้จะยุติลงเมื่อไร เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติการพิเศษทางทหารของที่ดำเนินมาจะครบ 2 ปี ใน 24 ก.พ.67 ก็ยังเกิดขึ้น โดยมีรายงาน ว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์รัสเซียฝังตัวเข้าไปในระบบของบริษัท Kyivstar ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือใหญ่ที่สุดในยูเครนตั้งแต่เมื่อ พ.ค.66 ได้เริ่มโจมตีเมื่อ 12 ธ.ค.66 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากกระทบต่อโครงสร้างของระบบ การได้ข้อมูลข่าวกรองไป และผู้ใช้ทั้ง 24 ล้านคน เกิดภาวะตื่นตระหนก ขณะที่ เมื่อ 9 ม.ค.67 มีรายงานว่า Blackjack ซึ่งเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เชื่อกันว่าหน่วยข่าวกรองของยูเครนให้การสนับสนุน ได้เข้าถึงระบบของ M9 Telecom ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ของรัสเซีย แม้ M9 Telecom จะเป็นบริษัทขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ทำให้การบริการอินเทอร์เน็ตหยุดชงัก และสามารถลบข้อมูลบางส่วนของบริษัทไปได้