มาพูดถึง AI กันต่อ เมื่อ 2 วันก่อน คริสตัลลินา จีออกีฟวา MD ของ IMF องค์กรการเงินระหว่างประเทศได้พูดถึงรายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อตลาดแรงงาน ก่อนที่จะบินไปพูดเรื่องนี้อีกทีในที่ประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ รายงานบอกว่าประมาณร้อยละ 40 ของการจ้างงานทั่วโลกสามารถใช้ AI แทนได้ โดยกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วร้อยละ 60 มีการจ้างงานที่ใช้เทคโนโลยี AI และในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งได้ประโยชน์มากขึ้นจาก AI ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งของการจ้างงานจะถูกแทนที่ด้วย AI ส่วนประเทศรายได้ปานกลางกับประเทศรายได้ต่ำมีการใช้ AI ร้อยละ 40 กับ 26 ตามลำดับ กลุ่มหลังนี้จึงได้รับผลกระทบจาก AI ในด้านการจ้างงานน้อยกว่า
IMF ยังพูดถึงความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นอันเกิดจาก 2 กรณี คือ “คนทำงาน“ ที่ได้ค่าจ้างสูงอยู่แล้วพอเอา AI มาใช้ทำให้งานดีขึ้นค่าจ้างย่อมสูงขึ้นกับอีกกรณีหนึ่งคือ “บริษัท” ที่เอา AI มาใช้ก็จะได้ประโยชน์จากผลิตภาพที่ดีขึ้น ทั้งสองกรณีทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกไป ต่อไปอาจได้เห็นคนอายุน้อยแต่รายได้นั้นสูงลิ่วในขณะที่คนแก่กลับมีรายได้ต่ำอย่างไม่ได้สัดส่วนกัน ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องเข้าใจและป้องกันผลกระทบของเทคโนโลยีที่จะทำให้สังคมตึงเครียดยิ่งขึ้นและอาจต้องเตรียมมาตรการรองรับเช่นการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนโดยเฉพาะกับคนทำงานที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง
ปีนี้จะเป็นปีของความยากลำบากจากการที่ภาระหนี้สินในช่วงวิกฤติโควิด 19 เริ่มปรากฏเห็นผลและยังเป็นปีของการเลือกตั้งในหลายสิบประเทศจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งถ้าผู้บริหารประเทศยืนหยัดนโยบายการเงินเพื่อสู้กับเงินเฟ้อกับนโยบายการคลังที่กว้างทั่วถึง ประเทศก็จะยืนระยะต่อไปได้
ที่ว่ามานี้คือสิ่งที่น่าจะถือว่าเป็นการเตือนอย่างมีข้อมูลจาก IMF ที่ควรรับฟัง ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนเมื่อกลับจากดาวอสมาแล้วคงจะได้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมรับมือซึ่งคงไม่ใช่แค่สร้างความตระหนักรู้แล้วก็ลืมๆกันไปเหมือนในอดีต มิฉะนั้นสังคมไทยที่มีความเปราะบางอยู่แล้วจะถูกซ้ำเติมเหมือนกับถูกระเบิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลจากการไม่เท่าทันในเทคโนโลยี และจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มีการเตือนล่วงหน้าแล้วแต่ผู้มีหน้าที่ไม่ได้ทำอะไร
สำหรับในระดับองค์กรที่น่าห่วงมากก็คืองานราชการที่อาจไม่ได้อยู่ในเซฟโซนเหมือนก่อน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่องบประมาณที่จะถูกเฉือนออกอย่างมหาศาล หากเอกชนต้องตกงานเพราะถูก AI แทนที่ งานราชการก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ดังนั้นควรเตรียมตัวเสียแต่บัดนี้ ศึกษา AI อย่างจริงจังและดูว่าจะอยู่กับมันได้อย่างไร ใครจะอยู่ ใครจะไป
Credit : TB-TALK facebook