การมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซามีความคืบหน้า โดยสหรัฐฯ และจอร์แดนร่วมมือกันมอบความช่วยเหลือทางอากาศอย่างน้อย 2 ครั้งเมื่อ 6 มี.ค.67 ส่วนมากเป็นอาหาร เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขในฉนวนกาซา ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส อียิปต์และอิสราเอลดำเนินการมอบความช่วยเหลือทางอากาศแล้ว
อย่างไรก็ตาม องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเชื่อว่าความช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และยังสะท้อนว่า การให้ความช่วยเหลือทางบกไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์สู้รบยังรุนแรง ขบวนรถที่ขนส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ยังตกเป็นเป้าหมายการโจมตี และก่อนหน้านี้เมื่อปลาย ก.พ.67 มีการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนที่อยู่ระหว่างการรอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย ดังนั้น สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซายังอยู่ในระดับวิกฤต
การให้ความช่วยเหลือทางอากาศ (Airdrop) เกิดขึ้นครั้งแรกโดยสหประชาชาติ เมื่อปี 2516 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วิธีการนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวเลือกสุดท้าย เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมากกว่าการให้ความช่วยเหลือทางบกถึง 7 เท่า ความช่วยเหลือส่วนมากไม่เข้าถึงผู้ที่ต้องการเร่งด่วน และปริมาณความช่วยเหลือก็น้อยเพราะมีพื้นที่จำกัด
นานาชาติยังคงต้องการให้สหรัฐฯ เร่งกดดันอิสราเอลให้ยุติปฏิบัติการทหารและการโจมตีพลเรือน รวมทั้งระงับการสนับสนุนด้านความมั่นคงในอิสราเอล แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงท่าที แม้ผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันล่าสุดร้อยละ 52 สนับสนุนให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เลิกทำปฏิบัติการในฉนวนกาซา ปัจจุบันการปฏิบัติการของอิสราเอลทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซามากกว่า 30,600 คน ส่วนมากเป็นสตรีและเด็ก
การปะทะบริเวณชายแดนอิสราเอล-เลบานอนตึงเครียดเมื่อ 5 มี.ค.67 เป็นผลจากการตอบโต้ด้วยขีปนาวุธและจรวดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน โดยมีรายงานพลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ รวมทั้งคนไทยในนิคมเกษตรมาร์กาลิโอต อิสราเอล ซึ่งมีรายงานว่าได้รับบาดเจ็บ 5 ราย
หลายประเทศห่วงกังวลความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน เนื่องจากวิตกว่าอิสราเอลจะควบคุมพื้นที่เข้มงวดและไม่ให้ชาวปาเลสไตน์ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โดยตุรกีแสดงความกังวลดังกล่าวเมื่อ 5 มี.ค.67 พร้อมเตือนอิสราเอลให้เปิดทางให้ชาวปาเลสไตน์เดินทางเข้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือ Haram al-Sharif ได้
การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวในพื้นที่ยังดำเนินต่อไป แต่ยังไม่บรรลุผล โดยกลุ่มฮะมาสระบุว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอิสราเอล