สื่อต่างประเทศรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซา โดยเมื่อ 15 มี.ค.67 มีรายงานว่ากองทัพอิสราเอลโจมตีชาวปาเลสไตน์ ระหว่างรอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในพื้นที่ตอนเหนือของ Gaza City ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คน และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 150 คน แนวโน้มการปะทะและการโจมตีทางทหารจะยังไม่ยุติ เนื่องจากคู่ขัดแย้งยังไม่บรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นานาชาติพยายามมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงและความเสียหายจากความขัดแย้ง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ร่างมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนตัวประกัน และลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับมติของ UNSC จะผ่านได้ต่อเมื่อได้รับการรับรองจาก 9 ประเทศ และไม่มีประเทศในกลุ่มสมาชิกถาวร 5 ประเทศคัดค้าน ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อียิปต์ จอร์แดน ฝรั่งเศสและเบลเยียม เดินหน้ามอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนในฉนวนกาซาผ่านปฏิบัติการทางอากาศต่อไป เน้นส่งอาหาร ขณะที่เส้นทางขนส่งและลำเลียงความช่วยเหลือทางบกถูกปิดไว้
อิสราเอลยังปฏิบัติการลาดตระเวนและจับกุมชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ด้วย คาดว่าเพื่อปราบปรามความเคลื่อนไหวที่ต่อต้านอิสราเอล และป้องกันไม่ให้มีความพยายามรวมกลุ่มเพื่อโจมตีอิสราเอลจากเขตเวสต์แบงก์
สถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งในฉนวนกาซาส่งผลให้เกิดกระแสความเกลียดชังและต่อต้านชาวยิว และชาวมุสลิมมากขึ้น โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนคำนิยามของคำว่า “แนวคิดสุดโต่ง” หรือ extremism ให้ครอบคลุมความรู้สึกและการเผยแพร่อุดมการณ์สุดโต่ง ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในฉนวนกาซา
ก่อนหน้านี้ แนวคิดสุดโต่งในคำนิยามของสหราชอาณาจักรจะเน้นที่แนวคิดที่นำไปสู่การกระทำที่มีความรุนแรง (acts of violence) แต่คำนิยามใหม่จะให้ความสำคัญกับการเผยแพร่อุดมการณ์และความเกลียดชังที่อาจนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงด้วย และหากรัฐบาลพิจารณาแล้วว่ากลุ่มความเคลื่อนไหวในสังคมใดที่เข้าข่ายมีแนวคิดสุดโต่ง ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมทั้งห้ามมีปฏิสัมพันธ์กับคณะรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนวิตกว่าแนวทางใหม่ของรัฐบาลอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและความหวาดระแวงในสังคมสหราชอาณาจักรมากขึ้น