รัฐบาลอิสราเอลเผชิญแรงกดดันมาดขึ้นทั้งจากนานาชาติและภายในประเทศ โดยหลายประเทศประณามและไม่เห็นด้วยกรณีอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ตอนกลางของฉนวนกาซาเมื่อ 2 เม.ย.67 จนทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขององค์กร World Central Kitchen ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจเสียชีวิตถึง 7 ราย เป็นเจ้าหน้าที่สัญชาติปาเลสไตน์ อังกฤษ โปแลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสที่เริ่มต้นเมื่อ 7 ต.ค.66 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขององค์กรระหว่างประเทศเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 196 คน ส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรภายใต้สหประชาชาติ (UN) กรณีดังกล่าวทำให้องค์กร World Central Kitchen และผู้นำทั่วโลกประณามว่าเป็นเหตุการณ์ที่รับไม่ได้ ต้องการให้อิสราเอลสืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งเรียกร้องให้อิสราเอลพิจารณาข้อตกลงหยุดยิงทันที และยุติการโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ผู้นำสหรัฐฯ ร่วมกล่าวโทษอิสราเอลที่โจมตีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่เป็นท่าทีที่ไม่แข็งกร้าวหรือรุนแรง โดยระบุว่า สหรัฐอเมริกาผิดหวังที่อิสราเอลไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องภารกิจนี้ และจะเร่งสนับสนุนอิสราเอลให้เพิ่มความปลอดภัยให้ปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ตอนนี้ถูกกดดันอย่างมากจากสมาคมชาวมุสลิมในประเทศที่ต้องการให้อเมริกายุติการสนับสนุนอิสราเอล ล่าสุดเมื่อ 2 เม.ย.67 ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องยกเลิกงานอิฟตาร์ (Iftar) หรือการรับประทานอาหารในช่วงเวลาละศีลอด เนื่องจากสมาคมชาวมุสลิมในสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรและไม่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมงานครั้งนี้ เพื่อประท้วงประธานาธิบดีไบเดนที่ยังสนับสนุนอิสราเอล
นอกจากแรงกดดันจากนานาชาติ รัฐบาลอิสราเอลเผชิญกระแสต่อต้านจากชาวอิสราเอลจำนวนหลายพันคนที่รวมตัวกันประท้วงในเยรูซาเล็มและเทลอาวีฟ เพื่อให้รัฐบาลทำข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา และเร่งช่วยเหลือตัวประกัน ตลอดจนกดดันให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูลาออกจากตำแหน่งด้วย คาดว่าชาวอิสราเอลบางส่วนเริ่มไม่สนับสนุนการทำสงครามในฉนวนกาซาที่ปัจจุบันยืดเยื้อมาเกือบ 6 เดือน
กระแสกดดันจากต่างประเทศและในประเทศอาจยังไม่เพียงพอให้ผู้นำอิสราเอลเปลี่ยนใจ หรือยกเลิกปฏิบัติการทหารในฉนวนกาซาได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากยังมีชาวอิสราเอลบางส่วนที่สนับสนุนการปราบปรามกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานะทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะเมื่อ ม.ค.67 อิสราเอลผ่านกฎหมายที่จำกัดบทบาทและอำนาจของศาลสูง (supreme court) ที่อาจแทรกแซงคำสั่งการหรือนโยบายของรัฐบาลได้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูยังมีจุดแข็งและยังจะเดินหน้าการปราบปรามกลุ่มฮะมาส โดยไม่ลาออก ไม่เปิดทางให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด แต่อาจมีความพยายามเพิ่มความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่อยู่ในฉนวนกาซามากขึ้น