..เป็นไปตามคาดเมื่ออิหร่านส่งฝูงโดรนกับขีปนาวุธเข้าถล่มเป้าหมายในอิสราเอลกว่า 300 ลูก เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาแต่เกือบทั้งหมดถูกอิสราเอล สหรัฐ และอังกฤษยิงสกัดได้ก่อนที่จะสร้างความเสียหาย ในเมื่อทำอะไรเขาไม่ได้แสดงว่าได้มีการเตรียมการป้องกันไว้เป็นอย่างดี แล้วการโจมตีนี้ก็จะถูกใช้เป็นข้ออ้างให้ฝ่ายอิสราเอลโจมตีอิหร่านกลับที่ใหญ่กว่า
มาดูลำดับเหตุการณ์เสียหน่อยว่าเป็นมากันอย่างไร เริ่มจากกองกำลังฮามาสบุกโจมตีพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอลติดกับกาซาเมื่อ 7 ตุลาคม 2566 สังหารพลเรือนชาวอิสราเอลและต่างชาติไปราว 1,200 คน จับตัวประกันไป 250 คน อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่มั่นของฮามาสในกาซาตามด้วยส่งกำลังยึดพื้นที่เพื่อทำลายโครงสร้างฮามาสและช่วยตัวประกันแต่ก็ทำเกินกว่าเหตุ คือทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้ว 32,000 คน ตามตัวเลขของฮามาส
นอกจากนี้การปิดล้อมพื้นที่ทำให้มีชาวปาเลสไตน์ที่อาจต้องอดตายเป็นแสนๆ คน ต่อมาเมื่อ 1 เมษายน อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 7 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นระดับผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม IRGC ซึ่งทูตอิหร่านบอกว่าอิสราเอลใช้จรวด 6 ลูกโจมตีมาจากเครื่องบินขับไล่ F-35 ดังนั้นการโจมตีกลับของอิหร่านด้วยโดรนเมื่อคืนก่อนจึงมุ่งไปที่ฐานทัพ F-35 ในขณะที่อิสราเอลเคยให้เหตุผลที่สังหารนายทหาร IRGC ว่าเป็นเพราะเขาเป็นคนที่วางแผนให้ฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว
หลังการโจมตีอิสราเอลของอิหร่านสหรัฐออกมาปกป้องอิสราเอลทันทีและว่าจะประชุม G7 เพื่อหาทางจำกัดวงความขัดแย้ง ส่วนพันธมิตรในยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ก็ออกมาประสานเสียงตำหนิอิหร่านและปกป้องอิสราเอล ยูเครนบอกว่าโดรนอิหร่านคือแบบเดียวกับที่รัสเซียเอามาใช้ถล่มยูเครน ส่วนรัสเซียไม่พูดถึงอิหร่านแต่ปราบประเทศยุโรปว่าอย่าทำให้ความขัดแย้งขยายวง
การตัดสินใจประกาศโจมตีอิสราเอลถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านกล้าเปิดหน้าสู้อย่างเป็นทางการแสดงว่าต้องมีความพร้อมในระดับที่มั่นใจในศักยภาพทางอาวุธของตนเองโดยเฉพาะนิวเคลียร์เพราะอิหร่านต้องทราบดีว่าแค่เพียงอิสราเอลก็รับมือยากแล้วแต่ครั้งนี้ยังมีสหรัฐกับพันธมิตรยุโรปเข้ามาด้วย
การทำสงครามสมัยใหม่ในระดับนี้เขาไม่ได้วัดกันที่ความสามารถของอาวุธทำลายล้าง แต่จะวัดกันที่ระบบการป้องกันภัยทางอากาศซึ่งอิสราเอลมีการพัฒนาระบบป้องกับขีปนาวุธในชั้นอวกาศและบรรยากาศร่วมกับสหรัฐที่เรียกว่า “แอร์โรว์” หรือการพัฒนาการเครื่องสกัดกั้นแบบจลศาสตร์เพื่อทำลายเป้าหมายระยะไกลที่เรียกโครงการ ”เดวิดสลิงค์“ รวมทั้งโครงการ “แพตทริออต” และ “ไออ้อนโดม” ที่ใช้ป้องกันจรวดกับขีปนาวุธพิสัยใกล้
อย่างไรก็ตามมีโอกาสสูงที่ความขัดแย้งนี้จะขยายวงกลายเป็นสงครามย่อยๆ ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางขาดเสถียรภาพ ขณะนี้ถือว่าคู่ขัดแย้งนั้นตรงคู่ที่สุดแล้วระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ก่อนหน้านี้อิสราเอลอาจทะเลาะกับฮามาส กับฮิซบอลล่าห์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของอิหร่านแต่คราวนี้อิหร่านลงมาเล่นเอง ซึ่งโดยลักษณะนิสัยของทั้งคู่กรณีนี้ไม่มีใครยอมใคร เกมคงไม่จบลงง่ายๆ ฝ่ายอิสราเอลที่โจมตีสถานกงสุลอิหร่านก็ไม่ได้เกรงการตอบโต้ของอิหร่านเลย ตรงกันข้ามเหมือนกับรอให้อิหร่านโจมตีเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีกลับที่ใหญ่กว่าที่เตรียมไว้แล้วแบบเดียวกับที่โจมตีกลับฮามาสอย่างไม่ได้สัดส่วนกัน
งานนี้เห็นทีจะไม่จบง่าย เห็นจะมีเพียงสหรัฐที่พอจะพูดให้อิสราเอลสงบลงได้ แต่พูดกับอิหร่านไม่ได้แน่เพราะอิหร่านก็ออกมาขู่สหรัฐไว้แล้วว่าอย่ามายุ่ง คอยดูกันไปก่อนครับถ้าโชคดีอาจค้นพบเงื่อนไขใหม่ๆ ที่ทำให้แต่ละฝ่ายยอมกันได้บ้าง
Credit TB-talk