สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อ 18 เม.ย.67 ว่า ในวันเดียวกันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ไม่สามารถรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกสหประชาชาติ (UN) เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ขณะที่สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์งดออกเสียง ส่วนสมาชิก UNSC อีก 12 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย จีน เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส กายอานา ญี่ปุ่น มอลตา โมซัมบิก เกาหลีใต้ รัสเซีย เซียร์ราลีโอน และสโลวีเนีย ลงคะแนนเห็นชอบ ทำให้ปาเลสไตน์ยังคงไม่มีสถานะสมาชิกภาพและต้องดำรงสถานะรัฐผู้สังเกตการณ์ต่อไป
ภายหลังการลงมติ นาย Riyad Mansour ผู้สังเกตการณ์ปาเลสไตน์ประจำUN กล่าวว่าจะไม่หยุดความพยายามที่จะผลักดันให้ปาเลสไตน์เป็นสมาชิก UN ต่อไป ขณะที่กลุ่มฮะมาสประณามจุดยืนของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และสิทธิอันชอบธรรมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
อนึ่ง ปาเลสไตน์เคยยื่นขอเป็นสมาชิก UN เมื่อปี 2554 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาปาเลสไตน์ยื่นขอเป็นสมาชิก UN อีกครั้งเมื่อ 2 เม.ย.67 โดยขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิกใหม่ต้องได้รับคะแนนเสียงจากสมาชิก UNSC ไม่น้อยกว่า 9 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียง และไม่มีสมาชิกถาวร UNSC ใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติลงคะแนนซึ่งต้องได้เสียงมากกว่าสองในสามจึงจะสามารถเข้าเป็นสมาชิก UN