ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรคาดหวังให้กลุ่มฮะมาส พิจารณาและยอมรับข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ระยะเวลา 40 วัน แลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวประกัน และการอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นเดินทางกลับภูมิลำเนาในพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.กต.สหรัฐฯ เรียกร้องประเด็นดังกล่าวเมื่อ 29 เม.ย.67 ในช่วงที่ผู้แทนกลุ่มฮะมาสกำลังพิจารณาเงื่อนไขและข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวฉบับล่าสุด ซึ่งอียิปต์คาดว่า กลุ่มฮะมาสจะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวเร็ว ๆ นี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มฮะมาสและอิสราเอลเคยบรรลุข้อตลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อ พฤศจิกายน 2566 เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ มีผลให้ปล่อยตัวประกันจากฉนวนกาซาจำนวน 105 คน และปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์จำนวน 240 คน คาดว่าปัจจุบันเหลือตัวประกันในฉนวนกาซาอีก 133 คน ซึ่งอิสราเอลเชื่อว่าอย่างน้อย 30 คนน่าจะเสียชีวิตแล้ว
สหรัฐฯ และอิสราเอลต้องการให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราวและปล่อยตัวประกัน เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากครอบครัวตัวประกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมความมั่นคงทางการเมือง รวมทั้งความชอบธรรมในการปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา ด้านอียิปต์และกาตาร์ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาประเด็นนี้มาโดยตลอด มีความหวังว่ากลุ่มฮะมาสอาจตอบรับข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อลดระดับความเสียหายในฉนวนกาซา เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เมือง Rafah ที่อิสราเอลเริ่มบุกโจมตีมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่กำลังเผชิญวิกฤต ทั้งที่เป็นผลจากสงคราม และสภาพอากาศที่ร้อนจัด
ในขณะที่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวมีความคืบหน้า แต่สถานการณ์การประท้วงในสหรัฐฯ ประเด็นสงครามในฉนวนกาซามีแนวโน้มตึงเครียดขึ้น เนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติสงครามนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสถาบันศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รวมทั้งมีการใช้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมด้วย ทำให้มีรายงานการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม จนกลายเป็นชนวนให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้นไปอีกเพราะชาวอเมริกันจำนวนมากไม่พอใจมาตรการของรัฐบาล ปัจจุบันกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากองค์กรสิทธิมนุษยชน NGO กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสังคม และภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่มองว่า กลุ่มนักศึกษากล้าหาญที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองและระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี กลุ่มปกป้องสิทธิชาวยิวในสหรัฐฯ มองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นอันตรายต่อชาวยิวในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ชุมนุมตั้งแคมป์ที่มีลักษณะไม่ต้อนรับและคุกคามความปลอดภัยของชาวยิว ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงยืนยันแล้วว่าไม่มีเป้าหมายต่อต้านชาวยิว และการประท้วงครั้งนี้มีสมาคมชาวยิวบางส่วนเข้าร่วมสนับสนุนด้วย เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม