กรณีอิสราเอลบุกโจมตีทางอากาศต่อค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีรายงานพลเรือนที่เป็นผู้พลัดถิ่นเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และทำให้นานาชาติประณามอิสราเอล เนื่องจากเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีดังกล่าว เช่น กาตาร์ อียิปต์ ตุรกี สเปน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหภาพยุโรป และเยอรมนี ด้านกลุ่มฮะมาสประกาศว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการกระที่โหดร้าย เนื่องจากมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตด้วย ขณะที่อิสราเอลระบุว่าอยู่ระหว่างสืบสวนการโจมตีครั้งนี้ เนื่องจากอิสราเอลพยายามเสียเลี่ยงการโจตีที่จะส่งผลกระทบต่อพลเรือนมาโดยตลอด แต่นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลยืนยันจะเดินหน้าปฏิบัติการทหารต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์
การเพิ่มจำนวนปฏิบัติการทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา อาจเป็นเพื่อตอบโต้กลุ่มฮะมาสและกองกำลังสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ยังคงยิงจรวดโจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อ 26 พ.ค.67 กลุ่มฮะมาสประกาศว่าประสบความสำเร็จในการยิงจรวดโจมตีอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน สะท้อนว่ากองกำลังในพื้นที่แม้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ยังมีความมุ่งหมายและขีดความสามารถที่จะสร้างอันตรายต่ออิสราเอล
เหตุการณ์ที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อพลเรือนในฉนวนกาซามากขึ้นทำให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) จัดการประชุมฉุกเฉินใน 28 พ.ค.67 เพื่อหารือกันประเด็นนี้ ตามข้อเรียกร้องของแอลเจเรีย สาระสำคัญคือคัดค้านการโจมตีที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบไปด้วย และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งการใช้ความรุนแรงในฉนวนกาซา ด้านสหภาพยุโรป (EU) และองค์กร NGOs ระหว่างประเทศเรียกร้องให้อิสราเอลปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่ขอให้ยุติการโจมตีในเมืองราฟาห์โดยเร็ว ปัจจุบันความรุนแรงและการต่อสู้ที่ยืดเยื้อทำให้มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้ว 36,000 คน การเจรจาหยุดยิงและแลกเปลี่ยนตัวประกันยังไม่สำเร็จ
นานาชาติเริ่มประณามอิสราเอลมากขึ้น จากกรณีโจมตีเมืองราฟาห์ พร้อมกับโจมตีพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ขณะเดียวกัน มีการกดดันอิสราเอลทางอ้อมด้วยการประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยตั้งแต่ 28 พ.ค.67 เป็นต้นไป ไอร์แลนด์จะรับรองสถานะเป็นรัฐของปาเลสไตน์ เพื่อยืนยันจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนการแก้ไขปัญหาระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นอกจากนี้ จะมีสเปน และนอร์เวย์ ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ด้วย พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนาจะต่อต้านอิสราเอล แต่เป็นกระบวนการส่งเสริมสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล ด้านประเทศอื่น ๆ พยายามเพิ่มมาตรการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ เช่น แคนาดาประกาศเพิ่มโควตาออกวีซ่าชั่วคราวให้ชาวปาเลสไตน์ที่มีญาติอยู่ในแคนาดา สามารถขอวีซ่าพิเศษจากแคนาดาได้จำนวน 5,000 คน จาก 1,000 คน ซึ่งผู้ที่ได้วีซ่านี้จะสามารถพำนักในแคนาดาได้นาน 3 ปี