ความขัดแย้งอิสราเอล-กลุ่มฮะมาสยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 8 โดยที่ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติความรุนแรงและการปฏิบัติการทางทหารระหว่างคู่ขัดแย้ง ขณะที่นานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่ออิสราเอลเพื่อให้ยับยั้งการโจมตีในฉนวนกาซา ที่สร้างผลกระทบต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ และเจ้าหน้าที่ต่างประเทศที่เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ล่าสุด องค์การสหประชาชาติ (UN) กดดันอิสราเอลด้วยการเพิ่มรายชื่อในบัญชีประเทศที่ละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณะในปลาย มิถุนายน 2567 เนื่องจากการทำสงครามในฉนวนกาซาทำให้เด็กและเยาวชนเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก การที่อิสราเอลอยู่ในบัญชีดำดังกล่าวอาจไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจทำสงครามเอาชนะกลุ่มฮะมาส แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่าเป็นความพยายามที่สำคัญและสะท้อนว่านานาชาติเริ่มปฏิบัติต่ออิสราเอลอย่างตรงไปตรงมา สำหรับประเทศที่อยู่ในบัญชีดำดังกล่าว ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อัฟกานิสถาน คองโก ซูดาน ซีเรีย และเยเมน อย่างไรก็ตาม อิสราเอลคัดค้านความเห็นของสหประชาชาติ และยืนยันว่ากองทัพอิสราเอลปฏิบัติการทางทหารโดยยึดหลักคุณธรรม
อิสราเอลยังโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 7 มิ.ย.67 มีรายงานว่ากองทัพอิสราเอลโจมตีโรงเรียนและโรงพยาบาลในตอนกลางของฉนวนกาซา โดยใช้อาวุธที่ได้รับสนับสนุนจากสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 40 คน กองทัพอิสราเอลยืนยันว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮะมาสและกลุ่มหัวรุนแรง
สหรัฐฯ พยายามแสดงบทบาทเร่งให้คู่ขัดแย้งทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว หลังจากที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนเสนอแผน 3 ขั้นตอน ก็จะส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนภูมิภาคตะวันออกกลางในสัปดาห์หน้า โดยจะเยือนอียิปต์ อิสราเอล จอร์แดน และกาตาร์ เพื่อเร่งให้เกิดการเจรจาและปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงที่สหรัฐฯ เสนอ พร้อมกันนี้เกิดการประท้วงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนการยุติสงครามในฉนวนกาซา ภาพรวมการประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ
การเมืองภายในอิสราเอลเริ่มปรากฏความเห็นต่างและแตกแยกมากขึ้นจากประเด็นแผนช่วยเหลือตัวประกัน โดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศจะถอนตัวและลาออกจากตำแหน่งใน 8 มิ.ย.67 หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแผนการช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นที่ชาวอิสราเอลต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญมากขึ้น นอกเหนือจากการปราบปรามกลุ่มฮะมาส