สหรัฐฯ มีความคืบหน้าในการผลักดันข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา โดนข้อตกลงหยุดยิง 3 ขั้นตอนที่ผู้นำสหรัฐฯ เสนอ ได้รับการยอมรับเป็นมติของสหประชาชาติเมื่อ 11 มิถุนายน 2567 จาก 14 ประเทศ และได้รับการตอบรับจากกลุ่มฮะมาส รวมทั้งกองกำลัง PIJ ที่เคลื่อนไหวในฉนวนกาซาแล้ว แม้จะยังไม่เห็นชอบหรือจะปฏิบัติตามในทันที แต่ระบุว่ากลุ่มจะร่วมมือเพื่อให้ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล เพื่อให้อิสราเอลหยุดการสังหารในฉนวนกาซา พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อข้อตกลงดังกล่าว ส่งต่อให้กาตาร์และอียิปต์ไปดำเนินการเจรจาด้วย
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังไม่ตอบรับ คาดว่าไม่เห็นด้วยกับการที่อิสราเอลจะต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ เนื่องจากจะทำให้อิสราเอลเสียโอกาสที่จะปราบปรามกลุ่มฮะมาสและกองกำลังอื่น ๆ ให้หมดสิ้นตามเป้าหมายของการทำสงคราม
นอกจากนี้ อิสราเอลยืนยันว่าไม่ได้ตอบรับข้อเสนอทั้งหมดของสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงข้อความในข้อตกลงมติของสหประชาชาติครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2567 เกี่ยวกับการเรียกร้องให้เปิดทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในช่วงเดือนรอมฎอน และครั้งนี้แม้ว่ารัสเซียจะงดออกเสียง แต่ก็ถือว่าเป็นมติสหระชาชาติที่สมบูรณ์ แต่สถานการณ์สู้รบและการปะทะยังไม่เคยยุติ
นักวิเคราะห์ประเมินว่าข้อตกลงหยุดยิง 3 ขั้นตอนที่สหรัฐฯ เสนอเมื่อ พฤษภาคม 2567 ขั้นตอนแรกอาจดำเนินการได้ คือ ใน 6 สัปดาห์แรก กลุ่มฮะมาสจะปล่อยตัวประกันบางส่วน แลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ปัจจุบันอยู่ในการควบคุมของอิสราเอล อิสราเอลต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่มีพลเรือนอยู่อาศัย ให้ชาวปาเลสไตน์กลับภูมิลำเนา และให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ขั้นตอนที่ 2 อาจมีปัญหา เพราะเป็นขั้นตอนการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมด และปล่อยตัวประกันทั้งหมด
รวมทั้งการเจรจาเพื่อหาแนวทางอยู่ร่วมกันระยะยาว ซึ่งอิสราเอลไม่น่าจะยอมปฏิบัติตามโดยสมบูรณ์ เพราะนักการเมืองอิสราเอลส่วนมากยังยืนยันให้ทำสงครามต่อไปจนกว่ากลุ่มฮะมาสจะหมดขีดความสามารถในการโจมตีอิสราเอล …ส่วนขั้นตอนที่ 3 คือการฟื้นฟูฉนวนกาซาที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ที่ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 37,160 คน
ในกรณีที่ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นผลงานสำคัญของสหรัฐฯ และเป็นหลักฐานยืนยันต่อประชาคมระหว่างประเทศว่า สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ และยังคงมีอิทธิพลในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพื่อปกป้องชาวยิว และเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางที่เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรสำคัญ เส้นทางการค้า และพื้นที่แข่งขันอิทธิพลกับมหาอำนาจอื่น ๆ