ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เมื่อ 22 พ.ย.67 ออกหมายจับ นรม.เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล และอดีต นรม.กห.อิสราเอล นาย Yoav Gallant รวมทั้งผู้นำฝ่ายทหารของกลุ่มฮะมาส นาย Mohammed Deif เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงครามต่อมนุษยชาติ ระหว่างการสู้รบอิสราเอล-กลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาที่เริ่มตั้งแต่ ต.ค.66 ปัจจุบันทั้งอิสราเอลและกลุ่มฮะมาสปฏิเสธข้อกล่าวหาของ ICC นอกจากนี้ อิสราเอลยังยืนยันว่า นาย Mohammed Deif ผู้นำของกลุ่มฮะมาสเสียชีวิตแล้วตั้งแต่ ก.ค.67 พร้อมกันนี้ นรม.เนทันยาฮูประณามการออกหมายจับของ ICC ว่าเป็นแนวคิดต่อต้านชาวยิว และเป็นศัตรูกับมนุษยชาติ ส่วนอดีต รมว.กห.อิสราเอลระบุว่าท่าทีของ ICC บั่นทอนสิทธิในการป้องกันตนเองของรัฐ และส่งเสริมการก่อการร้าย
อัยการ ICC เริ่มยื่นฟ้องผู้นำรัฐบาลอิสราเอลและสมาชิกระดับสูงของกลุ่มฮะมาส ในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อาอาชญากรรมระหว่างประเทศตั้งแต่ พ.ค.67 โดยในส่วนของผู้นำรัฐบาลและอดีต รมว.กห.อิสราเอล อัยการเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการใช้ความอดอยากเป็นเครื่องมือทำสงคราม ตั้งใจปฏิบัติการทางทหารต่อพลเรือน รวมทั้งสังหารบุคคลอย่างไรมนุษยธรรมด้วย ด้านผู้นำฝ่ายทหารของกลุ่มฮะมาส ICC ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเสียชีวิตแล้วตามที่อิสราเอลเชื่อ แต่เขาเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน จับตัวประกัน และใช้ความรุนแรง
หมายจับของ ICC จะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังต่อเมื่อสมาชิกของ ICC ทั้ง 124 ประเทศ มุ่งมั่นจะดำเนินการตามหมายจับดังกล่าว ซึ่งตามหลักการ ประเทศสมาชิกจะต้องควบคุมตัว นรม.เนทันยาฮูและอดีต รมว.กห.อิสราเอล หากเดินทางไปเยือนประเทศสมาชิก ดังนั้น ต้องติดตามท่าทีของประเทศสมาชิก ICC ต่อไป ขณะที่ประเทศยุโรปบางส่วนระบุว่าเคารพการตัดสินใจของ ICC แต่ที่ผ่านมา สมาชิก ICC ส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตามหมายจับอย่างเคร่งครัด
สหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นสมาชิก ICC คัดค้านการตัดสินใจของ ICC ที่น่าสนใจคือท่าทีของสหราชอาณาจักร เพราะเป็นสมาชิก ICC และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นรม.เนทันยาฮู …การออกหมายจับครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรก!! ที่ผู้นำประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตกกลายเป็นผู้ร้ายของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2541 ปัจจุบัน ICC ออกหมายจับแล้ว 59 ราย ก่อนหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เมื่อปี 2566 และอดีตผู้นำลิเบีย Moammar Gadhafi เมื่อปี 2554 สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เท่ากับไม่ได้เป็นสมาชิก ICC