อิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสมีความคืบหน้าแลกเปลี่ยนตัวประกันกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ โดยมีรายงานเมื่อ 2 ก.พ.68 ว่า กลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกัน 3 คน แลกตัวกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ 183 คน ขณะเดียวกันมีรายงานพบศพผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้นจากซากอาคารในพื้นที่ เป็นผลจากการทำสงครามนาน 15 เดือน นอกจากนี้ อิสราเอลเปิดพื้นที่ Rafah ให้ชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บและเด็ก เดินทางออกจากฉนวนกาซาไปรักษาตัวที่อียิปต์ เป็นการเปิดพื้นที่นี้ครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขของปาเลสไตน์ระบุว่า มีผู้ป่วยมากกว่า 6,000 คนพร้อมเดินทางออกจากฉนวนกาซาเพื่อรับการรักษา และมีผู้ป่วยอีกมากกว่า 12,000 คนที่ต้องการการดูแลเร่งด่วน
แม้ว่าจะมีความคืบหน้าการแลกเปลี่ยนตัวประกันและหยุดยิงในฉนวนกาซา แต่มีรายงานการโจมตีและสังหารชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์อย่างต่อเนื่อง โดย สนข.Aljazeera รายงานเมื่อ 2 ก.พ.68 ว่า กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการทางอากาศ รวมทั้งลาดตระเวนและยิงสังหารชาวปาเลสไตน์ ซึ่งกองทัพอิสราเอลยืนยันว่าปฏิบัติการของกองทัพเป็นไปเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่ม Palestinian Islamic Jihad ที่มีพื้นที่เคลื่อนไหวในเขตเวสต์แบงก์
ข้อตกลงหยุดยิงระยะที่ 1 ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสใกล้จะสิ้นสุดในปลาย ก.พ.68 นานาชาติคาดหวังให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงหยุดยิงระยะที่ 2 ซึ่งอิสราเอลยังไม่ตอบรับ และยังไม่ส่งผู้แทนไปเจรจาที่กาตาร์ ทั้งที่ใน 3 ก.พ.68 จะครบกำหนดการหารือในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจุบัน นรม.เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลอยู่ระหว่างกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ใน 3-4 ก.พ.68 จะได้พบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนาย Steve Witkoff ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการตะวันออกกลาง โดยเชื่อว่าจะมีการหารือเรื่องการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระยะต่อไปด้วย
นรม.เนทันยาฮูยังมีความเชื่อว่าความใกล้ชิดและการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลแนบแน่นอย่างมาก เห็นได้จากเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้พบกับประธานาธิบดีทรัมป์ หลังรับตำแหน่งวาระ 2 ซึ่ง นรม.เนทันยาฮูให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปวอชิงตัน ดี.ซี.ว่า การตัดสินใจทำสงครามของอิสราเอลได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลาง ด้วยความกล้าหาญของทหารอิสราเอล แต่ก็พร้อมทำงานร่วมกับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อทำให้ดีขึ้น
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เสนอก่อนหน้านี้ให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นออกจากฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายไปอยู่อียิปต์และจอร์แดน ทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจอย่างมาก เช่นเดียวกันกับกลุ่มประเทศอาหรับที่คัดค้านความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อชาวปาเลสไตน์และสันติภาพในตะวันออกกลาง รวมทั้งอาจเปิดโอกาสให้อิสราเอลขยายอำนาจในพื้นที่ โดยเมื่อ 1 ก.พ.68 คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาหรับ 5 ประเทศ กลุ่มสันนิบาตอาหรับ และหน่วยงานบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมต่อต้านแนวคิดของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งอียิปต์และจอร์แดนที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็ร่วมคัดค้านด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีชาวปาเลสไตน์อยู่ในทั้ง 2 ประเทศแล้วก็ตาม