เมื่อสหภาพยุโรป (EU) ต้องการมีบทบาทนำในโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยออกมาตรการสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ การประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทําลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) นำร่องในสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง จะมีผลบังคับใช้ใน 30 ธ.ค.68 ส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไป EU ซึ่งไทยพร้อมมากน้อยเพียงใดในการปฏิบัติตามมาตรการ EUDR และผลกระทบจะขนาดใด เฉพาะอย่างยิ่งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ ที่ไทยส่งออกไป EU มากที่สุดในกลุ่มสินค้านี้ และหากไทยพร้อม โอกาสทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะตลาด EU แต่สามารถส่งออกไปตลาดอื่นของโลกที่นับวันจะยิ่งนำประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวพันกับการค้า ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่
ทำความรู้จักมาตรการ EUDR
EUDR เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ European Green Deal ของ EU ซึ่งมุ่งบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการทำลายป่า เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ กฎหมายนี้ประชาชน EU ร่วมกันผลักดันเสนอ EUDR ประกาศใช้เมื่อ 29 มิ.ย.66 โดยกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ด้วย เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเดิมกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อ 30 ธ.ค.67 แต่ต้องเลื่อนจากการที่สมาชิก EU ประมาณ 20 ประเทศ จากทั้งหมด 27 ประเทศ ขอให้ชะลอ เพราะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรใน EU เองด้วย เนื่องจากจะห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปลูกในพื้นที่ที่ถูกทำลายป่า ทำให้กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 30 ธ.ค.68 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ 30 มิ.ย.69 สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้ไทยมีเวลาเพิ่ม แต่ก็ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกําหนดของ EUDR
EUDR กำหนดให้สินค้า 7 กลุ่มดังกล่าวที่มีการผลิตบนที่ดินที่มีการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรมหลังวันที่ 31 ธ.ค.63 เป็นต้นไป จะถูกห้ามขายหรือส่งออกจาก EU รวมถึงการห้ามนำเข้าใน EU ซึ่งสินค้าในกลุ่มที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR จะส่งออกมา EU ได้ ต้องเข้าเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ 1) เป็นสินค้าที่มีที่มาจากแหล่งปลอดการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม 2) เป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆของประเทศผู้ผลิต เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายสิทธิมนุษยชน และ 3) เป็นสินค้าที่ต้องมีระบบสอบทานธุรกิจ (Due Diligence System : DDS) ทั้งรูปแบบเอกสารหรืออิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลสินค้า ไปจนถึงแปลงปลูกหรือแปลงที่ผลิตได้ พร้อมกับต้องรายงานข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูกหรือพื้นที่ผลิต
ผลกระทบ หรือโอกาสทางการค้าของไทยจากมาตรการ EUDR
ไทยมีแนวโน้มจะส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR หรือสินค้า 6 กลุ่ม (ไม่รวมโค ที่ไทยไม่มีการส่งออกไป EU) ได้เพิ่มขึ้น เห็นได้จาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (ม.ค. – มิ.ย.67) ไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR ไป EU รวมมูลค่า 379.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 49.94 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเรียงลำดับตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้
สินค้าภายใต้มาตรการ EUDR |
มูลค่า (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
ขยายตัว/หดตัว |
1. ยางพารา |
314.82 |
+51.67% |
2. ไม้ |
49.06 |
+24.71% |
3. ปาล์มน้ำมัน |
11.85 |
+488.80% |
4. โกโก้ |
3.56 |
-10.15% |
5. กาแฟ |
0.18 |
-6.54% |
6. ถั่วเหลือง |
0.001 |
-44.37% |
*โคเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการส่งออกไป EU |
ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
สินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ที่ไทยส่งออกไป EU มากที่สุด คือ ยางพารา (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82.96) ตามด้วย ไม้ (สัดส่วนร้อยละ 12.92) และปาล์มน้ำมัน (สัดส่วนร้อยละ 3.12) รวมสินค้า 3 รายการใน EUDR ที่ไทยส่งออกไป EU รวมกันสูงถึงร้อยละ 99 โดยไทยส่งออกยางพาราไป EU ขยายตัวถึงร้อยละ 51.67 แต่ส่งออกยางพาราไปโลก ขยายตัวร้อยละ 30.86 การส่งออกไม้ไป EU ขยายตัวร้อยละ 24.71 แต่การส่งออกไม้ไปโลก ขยายตัวร้อยละ 5.48 และการส่งออกปาล์มน้ำมันไป EU ขยายตัวร้อยละ 488.80 แต่ส่งออกปาล์มน้ำมันไปโลก กลับหดตัวร้อยละ 20.15 ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าทั้ง 3 รายการไป EU มีแนวโน้มสดใสและขยายตัวสูงกว่าการส่งออกไปโลก แม้การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ของไทยไป EU จะยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับการส่งออกจากไทยไปโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 7.65 ของมูลค่าการส่งออกไปโลก แต่หากไทยพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการ EUDR นอกจากจะช่วยลดผลกระทบทางการค้า ยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกไป EU ในกลุ่มสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR หรือสินค้าใหม่อื่นที่ EU อาจนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้ในอนาคตต่อไป
หลายประเทศ เช่น บราซิลและมาเลเซีย มองมาตรการ EUDR เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการกีดกันทางการค้า และผู้นำเข้าฝั่ง EU อาจผลักภาระต้นทุนของการจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ มายังผู้ผลิตและหรือผู้ส่งออก เช่น การต้องมีเอกสารรับรองพิสูจน์ว่าสินค้าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ทำให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่สินค้าที่ทำตามมาตรการ EUDR ได้ จะมีราคาขายสูงขึ้นด้วย เช่น ยางพาราที่ส่งออกไป EU จะได้ราคาสูงกว่ายางทั่วไป 4 – 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการที่ไทยจะส่งออกไปตลาดอื่นแทน EU เช่น ส่งออกยางพาราไปตลาดหลักของไทย คือ จีน แต่อาจเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่ประเทศ และไทยอาจเผชิญกับการแข่งขันสูง เนื่องจากขณะนี้จีนเข้าลงทุนปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ ข้อมูลการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า เมื่อปี 2566 ไทยส่งออกยางพาราไปจีนเป็นมูลค่าสูงถึง 1,411 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ส่งออกไป EU เป็นมูลค่า 401 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลนักวิเคราะห์ธนาคารกรุงไทยระบุเมื่อกลางปี 2567 ว่า พื้นที่ปลูกยางพาราของไทยที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของมาตรการ EUDR ยังมีน้อย แม้ว่าพื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ 25 ล้านไร่ จากทั้งหมด 30 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83.3 ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ จะได้รับการยืนยันว่าไม่ได้มีการบุกรุกป่าก็ตาม
ความท้าทายไทย และสิ่งที่ต้องเร่งทำ
รศ.ดร.วีระภาส คุณรัตนสิริ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งเป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และทำงานร่วมกับนายเดวิด เดลี่ เอกอัครราชทูต EU ประจำประเทศไทย ทำรายงาน Assessment of the potential impact of the proposal for an EU regulation to prevent deforestation-products originating from Thailand to enter the EU market เมื่อ ก.ย.66 ให้ความเห็นว่า การที่ไทยปฏิบัติตามมาตรการ EUDR ช่วยลดผลกระทบในการส่งสินค้าในกลุ่ม EUDR ไป EU ซึ่งเหลือเวลาไม่มากที่ EU จะบังคับใช้กฎหมายนี้ใน 30 ธ.ค.68 และหากไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปจีน จีนจะส่งออกสินค้าต่อไป EU ไม่ได้ เพราะ EUDR ตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานถึงแหล่งผลิต อีกทั้งในอนาคต EU อาจดำเนินการกับสินค้าอื่น
รศ.ดร.วีระภาสให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยต้องกำหนดเจ้าภาพในการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมาตรการทางการค้า EUDR ให้ชัดเจน เนื่องจากกี่ยวพันกันในหลายหน่วยงาน โดยเสนอให้มี 1) การแต่งตั้งคณะกรรมการ EUDR เพื่อเป็นตัวกลางเพียงจุดเดียวในการประสานงานกับ EU และกำหนดรูปแบบและวิธีการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และ 2) เร่งรัดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลัก พิจารณาร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นในการแก้ไขนิยาม “ป่า” และการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ของไทยเพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าของ EU ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นรม. (ขณะนั้น) ลงนามอนุมัติ เมื่อ 2 ก.พ.67 ให้ดำเนินการ แต่ไม่มีความคืบหน้า
ปัจจุบัน “ป่า” ในความหมายของไทยมีการอ้างอิงจาก 4 แหล่ง ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ปี 2556 ซึ่งนิยาม “ป่า” ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความแตกต่างกับนิยาม “ป่า” ที่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) และ EU กำหนดไว้ ดังนั้นจึงจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยจะได้พิจารณาแก้ไขนิยามคำว่า “ป่า” ให้สอดคล้องกับนิยาม “ป่า” สากล เพื่อให้ไทยจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EUDR และนิยาม “ป่า” ใหม่ จะเป็นความหมายเพิ่มเติมในกฎหมาย กฎกระทรวง หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามแต่ละเรื่อง