กลุ่มฮะมาสประกาศเมื่อ 19 ก.พ.68 ว่าพร้อมจะปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลที่เหลือทั้งหมดจำนวน 6 คน เพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ใน 22 ก.พ.68 หากข้อตกลงหยุดยิงระยะที่ 2 บรรลุผล ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะครอบคลุมเงื่อนไขการหยุดยิงถาวร และให้กองทัพอิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมดด้วย ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่ข้อตกลงหยุดยิงระยะที่ 1 ใกล้จะสิ้นสุดลง และยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงระยะต่อไป ทำให้นานาชาติกังวลว่าจะเกิดการปะทะและการตอบโต้ทางทหารอีก
ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ เชื่อมั่นว่าจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนา และประเมินว่าการที่คู่ขัดแย้งส่งผู้แทนไปเยือนกาตาร์และอียิปต์ จะเป็นผลดีต่อการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในระยะถัดไป ทั้งนี้ เป้าหมายและความคาดหวังของชาวปาเลสไตน์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ ต้องการยุติสงคราม ให้อิสราเอลถอนทหารออกจากฉนวนกซา และให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่
นักวิจัยเปิดเผยว่าต้องใช้งบประมาณมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อฟื้นฟูสภาพฉนวนกาซา และใช้เวลาฟื้นฟูประมาณ 10 ปี เนื่องจากพื้นที่ได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างมาก โดยกลุ่ม Gaza & West Bank Interim Rapid Damage and Needs Assessment (IRDNA) ประเมินว่าในช่วง 3 ปีแรกจะต้องมีงบประมาณอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นขึ้นใหม่ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา อุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งอาจมาจากการบริจาคโดยประเทศต่าง ๆ
การทำข้อตกลงระยะที่ 2 อาจเผชิญความท้าทายจากเงื่อนไขที่แตกต่างกันและยังตกลงกันไม่ได้ พิจารณาจากท่าทีของผู้นำอิสราเอลระบุเมื่อ 18 ก.พ.68 ว่า หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงระหว่างกันได้ก็จะต้องเริ่มสงครามครั้งใหม่ โดยอิสราเอลยืนยันว่ากลุ่มฮะมาสต้องปลดอาวุธทั้งหมด และองค์กรบริหารปาเลสไตน์ (PA) จะต้องไม่มีอำนาจบริหารการเมืองในฉนวนกาซา
ท่าทีของผู้นำอิสราเอลดังกล่าว ทำให้ฝ่ายการเมืองในอิสราเอลบางส่วนไม่พอใจ ประเมินว่าผู้นำอิสราเอลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลที่ยังอยู่กับกลุ่มฮะมาส นอกจากนี้ กรณีที่ผู้นำอิสราเอลโจมตีหน่วยความมั่นคงของอิสราเอลที่ทำหน้าที่เจรจาช่วยเหลือตัวประกันและยุติสงคราม โดยเฉพาะหน่วยข่าวกรองอิสราเอล นาย David Barnea ผอ.หน่วย Mossad ว่า ยอมประนีประนอมให้กลุ่มฮะมาส พร้อมกับอ้างว่าความสำเร็จในการเจรจาทั้งหมดเป็นผลงานของ นรม.เบนจามิน เนทันยาฮู ที่เปลี่ยนตัวผู้เจรจา สะท้อนว่าผู้นำอิสราเอลไม่กล้าแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และจะอ้างความสำเร็จฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอลพยายามโน้มน้าวให้หน่วยข่าวกรองอิสราเอลเห็นว่า ผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอจะกำหนดทิศทางความมั่นคงของประเทศได้ และพร้อมจะปัดความรับผิดชอบ