สถานการณ์ชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชายังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย และสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดเพิ่มขึ้นเมื่อห้วงกลางกรกฎาคม 2568 เกิดกรณีที่ทหารไทย 3 นายถูกระเบิด ขณะลาดตระเวนบริเวณสามเหลี่ยมมรกต อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ 16 กรกฎาคม 2568 ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center-TMAC) และกองทัพบกของไทย ยืนยันว่าทุ่นระเบิดที่พบเป็นชนิด PMN-2 ซึ่งเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ผลิตในรัสเซีย และยืนยันว่าไม่ใช่ทุ่นระเบิดของกองทัพไทย และชี้ว่าเป็นการวางใหม่ โดยมีเจตนาเพื่อสังหารบุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยและสนธิสัญญาออตตาวา ขณะที่กระทรวงกลาโหมกัมพูชายืนยันว่า บริเวณที่ทหารไทยลาดตระเวนอยู่ภายในอธิปไตยกัมพูชาและมีระเบิดตกค้างจากสมัยสงครามจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงของเหตุระเบิดยังต้องสืบสวนกันต่อไป แต่วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับสนธิสัญญาออตตาวาที่ทั้งสองประเทศกล่าวอ้างถึงกัน
สนธิสัญญาออตตาวา (Ottawa Treaty) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่ง มีเป้าหมายหลักในการกำจัดทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั่วโลก โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2543 (ค.ศ. 1999) หลังจากมีประเทศให้สัตยาบันครบ 40 ประเทศ
ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นรัฐภาคีเช่นเดียวกัน โดยไทยให้สัตยาบันเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2541 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พฤษภาคม 2542 ขณะที่กัมพูชา ได้เข้าร่วมสนธิสัญญาออตตาวาในปี 2543 สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญด้านมนุษยธรรม เนื่องจากเป็นการห้ามอาวุธที่ยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในขณะนั้น เพื่อยุติความทุกข์ทรมานและการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดจากทุ่นระเบิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและเด็ก
สนธิสัญญาออตตาว่ากำหนดพันธพันธกรณีหลักสำหรับรัฐภาคี ดังนี้ 1) ห้ามใช้ พัฒนา ผลิต สะสม ครอบครอง และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยเด็ดขาด รวมถึงการห้ามให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือชักจูงให้ผู้อื่นกระทำกิจกรรมที่ถูกห้าม 2) ทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมด รัฐภาคีจะต้องทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมดภายใน 4 ปี หลังจากเข้าร่วมโดยอาจเก็บไว้ในจำนวนจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม (เช่น การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การตรวจจับ) 3) เก็บกวาดพื้นที่ที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด รัฐภาคีจะต้องดำเนินการเก็บกวาดพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดทั้งหมดภายในอาณาเขตหรือภายใต้การควบคุมของตนเองให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปีหลังจากเข้าร่วมอนุสัญญา โดยสามารถขอขยายเวลาได้ในกรณีที่มีความจำเป็นและได้รับอนุมัติ 4) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด รวมถึงการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการส่งเสริมให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมและเศรษฐกิจ และ 5) ดำเนินมาตรการภายในประเทศ รัฐภาคีต้องออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดบทลงโทษทางอาญา เพื่อป้องกันและปราบปรามกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องห้ามภายใต้อนุสัญญา
นับตั้งแต่สนธิสัญญาออตตาวาถือปฏิบัติมาก็นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ปัจจุบันมีรัฐภาคีมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก แต่ก็ยังเผชิญหน้าความท้าทายและการละเมิด โดยเฉพาะการละเมิดจากประเทศที่ไม่ใช่รัฐภาคี (Non-State Parties) อาทิ สหรัฐฯ ที่อ้างว่าต้องมีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพื่อปกป้องกำลังพลจากความขัดแย้ง โดยเฉพาะในคาบสมุทรเกาหลี จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและครอบครองทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรายใหญ่ของโลก รัสเซีย ที่ยังพบการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างแพร่หลายในความขัดแย้งต่าง ๆ โดยเฉพาะในยูเครน และ อินเดีย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปากีสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเผชิญความท้าทายจากการละเมิดโดยรัฐภาคี รวมถึง ความท้าทายในการเก็บกู้ เนื่องจากการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็นงานที่ซับซ้อน อันตราย และต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งหรือภูมิประเทศที่ยากลำบาก
ความท้าทายและการละเมิดที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาของไทยและกัมพูชา ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นไทยและกัมพูชาแม้ทั้งสองประเทศจะเป็นภาคีของสนธิสัญญา แต่ก็มีประเด็น
ท้าทายและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหตุการณ์ล่าสุด เหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด เมื่อ 16 กรกฎาคม 2568 ไทยประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยกระทรวงการต่างประเทศเตรียมยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการไปยังกัมพูชา รวมถึงจะดำเนินการตามกระบวนการของอนุสัญญาออตตาวา โดยแจ้งการละเมิดต่อประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อนำไปสู่การรับผิดชอบของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาออตตาวา ไม่มีบทลงโทษที่เป็นกลไกการบังคับใช้โดยตรงในลักษณะของการปรับ หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบอัตโนมัติเหมือนบางสนธิสัญญาอื่น ๆ แต่การละเมิดพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาออตตาวาจะส่งผลกระทบในรูปแบบอื่น ทั้งความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ (Reputational Damage) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ แรงกดดันทางการทูต (Diplomatic Pressure) รวมถึงอาจสูญเสียความช่วยเหลือและความร่วมมือ (Loss of Aid and Cooperation)
อนาคตของสนธิสัญญาออตตาวา…….
สนธิสัญญาออตตาวาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับปัญหาอาวุธที่สร้างความเสียหายต่อมนุษยชาติอย่างใหญ่หลวง แม้จะยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่ แต่ความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการทำให้โลกปราศจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลยังคงแข็งแกร่ง การกดดันให้ประเทศที่ยังไม่เข้าร่วมให้สัตยาบัน การเสริมสร้างการปฏิบัติตามข้อตกลง และการสนับสนุนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายของสนธิสัญญาออตตาวาบรรลุผลสำเร็จอย่างแท้จริง
โดยสรุปแล้ว การมีอยู่ของสนธิสัญญาออตตาวาเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือและการใช้แรงกดดันทางสังคมและการทูต เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตาม มากกว่าการลงโทษแบบบังคับโดยตรง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของผู้ที่กระทำผิด และเหตุการณ์เหยียบทุ่นระเบิดในครั้งนี้ เน้นย้ำถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ชายแดน และความสำคัญของการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรในพื้นที่ และความเชื่อมั่นในการมีสนธิสัญญาออตตาวา