สงครามถือเป็นปรากฎการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติการทางทหารในยามสงครามนั้น มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของยุทธวิถีและอำนาจ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น แม้ในสถานการณ์ที่โหดร้ายในการทำสงคราม ยังคงมีหลักการและข้อตกลงที่มุ่งลดทอนความทุกข์ทรมาน เพื่อจำกัดความโหดร้ายและปกป้องมนุษยชาติ นั่นคือ “สนธิสัญญาเจนีวา” (Geneva Conventions) ซึ่งวางกรอบทางกฎหมายและมนุษยธรรมสำหรับการปฏิบัติการทางทหาร
สนธิสัญญาเจนีวาคืออะไรและเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารอย่างไร ?
สนธิสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) คือ ชุดข้อตกลงระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเพื่อวางรากฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมายว่าด้วยสงคราม (Law of War) จุดประสงค์หลักคือการจำกัดผลกระทบของสงคราม โดยเฉพาะการปกป้องบุคคลที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง เช่น พลเรือน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่สิ้นสภาพการสู้รบ เช่น ผู้บาดเจ็บ เชลยศึก สนธิสัญญาเจนีวาไม่ใช่ข้อเสนอแนะทางศีลธรรม แต่เป็น ข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่ทุกประเทศที่ให้สัตยาบัน (ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลก) ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในระหว่างการปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือภายในประเทศ
สนธิสัญญาเจนีวา มี 4 ฉบับที่ลงนามและปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 12 สิงหาคม 2492 และเป็นรากฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ 1) อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1: ว่าด้วยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบ 2) อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 2: ว่าด้วยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้บาดเจ็บ ป่วยไข้ และอับปางจากกองทัพเรือในทะเล 3) อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 3: ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก และ 4) อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4: ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม นอกจากนี้ ยังมีพิธีสารเพิ่มเติม (Additional Protocols) อีก 3 ฉบับ ที่ได้มีการลงนามในภายหลัง เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมสถานการณ์ความขัดแย้งที่ซับซ้อนขึ้น
หลักการสำคัญสำหรับปฏิบัติการทางทหารภายใต้สนธิสัญญาเจนีวา…
เมื่อใดก็ตามที่เกิดการปะทะด้วยกำลังและอาวุธ การปฏิบัติตามสนธิสัญญาเจนีวาจะถูกหยิบยกขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคุ้มครองพลเรือนและวัตถุพลเรือน
– หลักการแบ่งแยก (Distinction) กองกำลังของทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ต้องแยกแยะให้ได้ระหว่าง เป้าหมายทางทหาร กับ พลเรือน/วัตถุพลเรือน การโจมตีจะต้องมุ่งเป้าไปที่ฝ่ายทหารเท่านั้น และห้ามโจมตีพลเรือนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่ทางทหาร เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือบ้านเรือนประชาชนโดยเจตนา
– หลักการได้สัดส่วน (Proportionality) แม้จะเป็นการโจมตีเป้าหมายทางทหารที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องมั่นใจว่าความเสียหายต่อพลเรือน/วัตถุพลเรือนจะไม่เกินกว่าประโยชน์ทางทหารที่คาดว่าจะได้รั
– หลักการระมัดระวัง (Precaution) ฝ่ายที่โจมตีต้องระมัดระวังทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสียหายต่อพลเรือน/วัตถุพลเรือน และต้องใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อลดความสูญเสียต่อพลเรือนและวัตถุพลเรือน
– การห้ามใช้อาวุธและวิธีการทำสงครามบางชนิด ห้ามใช้อาวุธที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างไม่จำเป็นหรือไม่เลือกปฏิบัติ เช่น อาวุธเคมีและชีวภาพ ระเบิดประเภทลูกปรายบางชนิด หรือทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคล
– การคุ้มครองสถานพยาบาล อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 มาตรา 18 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าโรงพยาบาลพลเรือนจะต้องได้รับการคุ้มครองและห้ามตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี หากสถานพยาบาลไม่ถูกนำไปใช้ในทางทหาร การจงใจโจมตีโรงพยาบาลจึงถือเป็นการละเมิดที่ร้ายแรงและเข้าข่าย อาชญากรรมสงคราม
– การคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ในบริเวณที่มีปราสาทโบราณและแหล่งมรดกโลก การโจมตีทีส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรมก็อาจเป็นการละเมิดหลักการภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
– การปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งเชลยศึก ผู้บาดเจ็บ/ป่วยไข้ บุคลากรทางการแพทย์และศาสนา และพลเรือน ที่ห้ามจับเป็นตัวประกัน ห้ามบังคับใช้แรงงานโดยมิชอบ และต้องได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง
สนธิสัญญาเจนีวากับความขัดแย้งไทย-กัมพูชา …….
จากกรณีเกิดเหตุปะทะด้วยอาวุธตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานีของไทย ตั้งแต่ช่วงเช้า 24 กรกฎาคม 2568 ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินพลเรือน ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาต่างเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งหมายความว่าทั้งสองประเทศมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการและข้อกำหนดของสนธิสัญญาเหล่านี้อย่างเคร่งครัดในระหว่างการสู้รบ และจากการปะทะครั้งนี้เกิดการกล่าวหาว่าละเมิดสนธิสัญญาเจนีวา ทั้ง การโจมตีเป้าหมายพลเรือน มีรายงานการยิงปืนใหญ่หรือจรวดตกใส่พื้นที่พลเรือน บ้านเรือนประชาชน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร การโจมตีสถานพยาบาล รายงานว่ากระสุนปืนใหญ่หรืออาวุธหนักตกใกล้หรือถูกโรงพยาบาลพลเรือน เช่น กรณีโรงพยาบาลพนมดงรัก โดยอนุสัญญามาตรา 18 ระบุชัดเจนว่า โรงพยาบาลพลเรือนจะไม่มีทางเป็นเป้าหมายของการโจมตีได้ และจะต้องได้รับการเคารพและคุ้มครองตลอดเวลา
เมื่อเกิดการปะทะและมีการกล่าวหาเรื่องการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวา…..
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม มักจะออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ทั้งการประท้วงทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาอาจมีการยื่นหนังสือประท้วงซึ่งกันและกัน โดยอ้างถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงสนธิสัญญาเจนีวา รวมถึงการตรวจสอบและรับผิดชอบ โดยหากพบว่ามีการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรงและจงใจ การกระทำเหล่านั้นอาจเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” ซึ่งอาจนำไปสู่การสอบสวนและดำเนินคดีในระดับระหว่างประเทศได้
สนธิสัญญาเจนีวาเป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้ในยามที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธ หลักการพื้นฐานของมนุษยธรรมก็ยังคงต้องได้รับการเคารพและปกป้อง การปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะรัฐภาคีเท่านั้น แต่ยังเป็นการธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์ที่โหดร้ายที่สุดอย่างสงคราม และสนธิสัญญาเจนีวายังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดทอนความทุกข์ทรมานที่เกิดจากสงคราม