ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry – MTI) เปิดเผยเมื่อ 23 ส.ค.65 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index – CPI) ของสิงคโปร์ เมื่อห้วง ก.ค.65 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ร้อยละ 7 เทียบกับห้วงเดียวกันเมื่อปี 2564 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคการขนส่ง และค่าที่พักอาศัยภายในประเทศปรับตัวขึ้นตามไปด้วย
โดยเมื่อห้วง ก.ค.65 อัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ราคาที่พักอาศัยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ภาคการขนส่งเอกชนขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 22.2 ส่วนภาคค้าปลีกเริ่มขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.8
อย่างไรก็ดี MAS ระบุว่า แม้ว่าภาวะหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจะเริ่มคลี่คลาย แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมถึงการที่หลายประเทศมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นหลังฟื้นฟูจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์ ย้ำระหว่างกล่าวสุนทรพจน์งานวันชาติ เมื่อ 21 ส.ค.65 ว่า รัฐบาลได้ทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อช่วยภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมทันที หากเศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มย่ำแย่ลง ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการเยียวยากลุ่มที่มีรายได้ต่ำมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 39 พันล้านบาท) และการจ่าย GST Voucher-U Save ทั้งนี้ MAS คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ในปี 2565 จะอยู่ที่ร้อยละ 5-6