กาตาร์และกลุ่มฮะมาสประกาศเมื่อ 28 พ.ย.66 ว่าอิสราเอลเห็นพ้องที่จะขยายระยะเวลาหยุดยิงเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา (humanitarian truce) เป็นระยะเวลา 2 วัน จนถึง 29 พ.ย.66 โดยเป็นผลจากการที่กาตาร์ อียิปต์ และสหรัฐฯ เร่งเจรจาเพื่อลดระดับความเสียหายจากการทำสงครามระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสที่เริ่มต้นเมื่อ 7 ต.ค.66 ซึ่งระหว่างที่มีการหยุดยิงนี้ จะมีการเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยสงครามในพื้นที่ รวมทั้งปล่อยตัวประกันที่อยู่ในฉนวนกาซา ควบคู่กับอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเรือนจำ ปัจจุบัน กลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกันแล้วประมาณ 50 คน ส่วนอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษแล้วประมาณ 150 คน
กาตาร์และกลุ่มฮะมาสมุ่งหวังที่จะขยายการหยุดยิงออกไปอีก เนื่องจากมีระบุไว้ในข้อตกลงกับอิสราเอลว่าจะพิจารณาขยายเวลาการยุดยิง เมื่อกลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกันอย่างน้อยวันละ 10 คน ซึ่งปัจจุบัน ผู้แทนกลุ่มฮะมาสระบุว่าเห็นพ้องจะปล่อยตัวประกันเพิ่ม เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อพลเรือนในฉนวนกาซา และเริ่มส่งสัญญาณต้องการยุติสงครามครั้งนี้
สหประชาชาติแสดงความยินดีกับการขยายระยะเวลาหยุดยิง โดยระบุว่าเป็นความหวังให้กับมนุษยชาติ ขณะเดียวกันก็โน้มน้าวให้นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ฉนวนกาซา เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่แน่นอน และมีเวลาจำกัดในการเข้าพื้นที่ในช่วงที่คู่ขัดแย้งหยุดยิง นอกจากนี้ เลขาธิการสหประชาชาติสนับสนุนให้มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นจากสงครามครั้งนี้ประมาณ 1.7 ล้านคน
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮะมาสรอบนี้อาจลดระดับความรุนแรงได้ในระยะสั้น ในช่วงที่กลุ่มฮะมาสยังมีตัวประกันเป็นข้อต่อรอง อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังห่วงกังวลว่าอิสราเอลจะเดินหน้าทำสงครามระยะต่อไป เพื่อประกาศชัยชนะ และปราบปรามกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์รุนแรงและตึงเครียดขึ้นอีก ปัจจุบันนานาชาติเร่งแสวงหาข้อเสนอเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยกลุ่มประเทศ Union for the Mediterranean ที่ประกอบด้วยสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศในตะวันออกกลางประชุมกันเมื่อ 27 พ.ย.66 และสนับสนุนแนวคิด two-state solution หรือแนวทาง 2 รัฐ ในการแก้ไขปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนปาเลสไตน์กับอิสราเอล ที่จะทำให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้เจรจาเพื่อร่วมกันแบ่งเขตการปกครอง รวมทั้งยอมรับฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้อธิปไตยของปาเลสไตน์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ สหรัฐฯ จีน ประเทศในตะวันออกกลางส่วนมาก รวมทั้งไทย