สมัยนี้เรื่องที่เคยหาคำตอบยาก ก็ตอบได้ง่ายๆ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ อย่างที่มีคนถามว่าการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมันช่วยทำให้คนจีนมาเที่ยวไทยมากขึ้นจริงหรือ? มันได้ผลหรือไม่? คำตอบก็คือได้ผล..และได้ผลมากด้วย ..แล้วมันยืนยันด้วยอะไร? คำตอบก็คือ ข้อมูลครับ.. ข้อมูล (ที่จริงและถูก) ไม่โกหกใคร
สองวันก่อน ผู้บริหารแพล็ตฟอร์มใหญ่ ทริปดอทคอมของจีนให้ข้อมูลว่าทันทีที่มีการประกาศว่าจะยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน ยอดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มขึ้น 800% ทำให้คนจีนมียอดจองเดินทางออกมาเที่ยวไทยในห้วงวันหยุดเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นถึงกว่า 11 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 การท่องเที่ยวจึงน่าจะไปด้วยดีแล้วแต่เสียดายที่ต้องสะดุดลงเมื่อมีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับการหลอกลวงนักท่องเที่ยวจีนมาทำข่มขู่ทำมิดีมิร้ายกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวที่มาจริงลดลงไปมาก
แพล็ตฟอร์ม Trip.com ที่ว่านี้ใช้ AI ให้บริการข้อมูล ข้อเท็จจริง และแนวโน้มต่างๆ ที่เชื่อถือได้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลกตลอด 24 ชม. ทั้งยังช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในการวางแผน การจอง และการบริหารงบประมาณได้อย่างเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพ
การใช้ AI ของจีนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ไม่เพียงแต่ธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ในประเทศจีนยังมีการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในทางการเมือง การบริหาร และความมั่นคงมานานนับ 10 ปีตั้งแต่ที่ ท่านสี จิ้นผิงเคยพูดไว้ว่าจะต้องนำเอาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยลดสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและป้องกันประเทศก็ส่งผลให้จีนประกาศวิสัยทัศน์ เมื่อปี 60 ว่าจะต้องก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำโลกด้าน AI ภายในปี 73 การที่จีนมีความชัดเจนในการเลือกเทคโนโลยีและทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีตัวนั้นมาต่อเนื่องหลายสิบปีทำให้มีการสะสมของข้อมูลและประสบการณ์ที่มากพอจะสอนให้ AI มีความเก่งฉกาจขึ้นในตัวเอง จนบัดนี้จีนก้าวขึ้นเป็น เจ้าแห่งเทคโนโลยี AI เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ดังนั้นเวลาที่เหลืออีก 7 ปีกับการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 จึงไม่ใช่เรื่องยาก ถึงตอนนั้นจีนจะมีระบบ AI เข้มแข็งมีพลังมากขึ้นจนสามารถมองแนวโน้มและให้ข้อเสนอในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ความได้เปรียบของจีนอยู่ที่ระบบการเมืองและการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ กับการมีข้อมูลจำนวนมหาศาลจากประชากรของตัวเองในการป้อนเข้าระบบ AI แค่นั้นยังไม่พอจีนยังสร้างระบบเปิดในการพัฒนา AI ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนด้าน AI โดยมุ่งไปที่นวัตกรรมที่สำคัญอย่างยานยนต์ไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ และการสร้างภาพทางการแพทย์ ทั้งนี้จีนต้องการพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดในขณะที่คู่แข่งอย่างสหรัฐฯ กับ EU คงไม่อยู่เฉยๆ ซึ่งถ้ามาดูแล้วปัจจัยในการพัฒนา AI ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนา การวิจัย คน ฮาร์ดแวร์ และการประยุกต์ใช้ข้อมูล พบว่าการสกัดกั้นฮาร์ดแวร์ เป็นตัวที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุด จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ จะมีมาตรการสกัดกั้นจีนในการเข้าถึงไมโครชิบที่สำคัญทั้งหลาย
เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ เช่นเดียวกัน AI ก็มีทั้งด้านมืดและสว่าง ด้านมืดที่เขากังวลกันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกับอคติที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์สอนให้ AI มีอคติต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างกรณีที่จีนนำระบบการให้คะแนนประชาชนมาใช้ติดตามพฤติกรรมและปรับแต้มคนทำผิดจารีตของสังคมอันนี้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ต่างจากทางการจีนที่มองว่าเป็นการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม
เมื่อต้นเดือนนี้ ที่่ประชุมสหภาพยุโรปถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดแบบข้ามวันข้ามคืนในประเด็นความสมดุลระหว่างการนำศักยภาพของ AI ไปช่วยในการบังคับใช้กฎหมายกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการติดตามพฤติกรรมประชาชนอย่างกว้างขวางในยุโรป สุดท้ายก็ออกมาเป็นข้อกำหนดที่จะบังคับใช้ในยุโรปโดยยอมให้มีการสแกนใบหน้าคนได้ภายใต้ข้อจำกัด แต่ไม่ยอมให้มีการสแกนหรือแบ่งชั้นกันด้วยข้อมูลชีวภาพซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ความชอบทางการเมือง การนับถือศาสนา หรือเพศสภาพ ซึ่งข้อกำหนดนี้จะต้องนำไปผ่านประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการควบคุม AI ระบบเปิดอย่าง Open AI ,Chat GPT หรือ Google’s bard ซึ่งถ้าหากมีการละเมิดข้อกำหนดดังกล่าวบริษัทผู้ให้บริการจะต้องถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 35 ล้านยูโร เลยทีเดียว
วันนี้คนไทยเราใช้ AI กันมากขึ้น คงจะดีกว่านี้ถ้าการเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์จาก AI เกิดขึ้นควบคู่กับความตระหนักรู้ในโทษมันด้วย อย่างน้อยจะได้ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น จนกว่าไทยเราจะมีกฎหมายควบคุม AI แบบต่างประเทศเขา
Credit : TB-TALK facebook