ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เวทีหารือเศรษฐกิจโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ มีการพูดคุยกันมากเกี่ยวกับ AI โดยบอกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าความสามารถของคนเราจะลดลงไปร้อยละ 44 ดังนั้นประมาณ 1 ใน 3 ของคนในโลกนี้จะต้องกลับไปเรียนใหม่ถ้าหากว่าอยากจะไปกันได้กับโลกเทคโนโลยีในอนาคต แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปสังคมไทยเราที่นับวันจะมีแต่คนแก่มากขึ้นก็ยังเรียนได้เพราะจะมีครูที่เรียกว่า AI มาสอนถึงบ้านอีกทั้งยังเป็นชนิดแบบประกบตัวต่อตัวด้วยนี่คือข้อดีของ AI ที่มีต่อระบบการศึกษาในอนาคต
เบนจามิน บลูม นักวิชาการศึกษาอเมริกัน บอกว่าในการเรียนการสอนแบบเดิมที่ใช้ครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 30 นั้นหากปรับให้เป็นแบบ 1 ต่อ 1 ก็จะทำให้ผลการศึกษาออกมาดีกว่าใน 2 ระดับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Sigma) ซึ่งเขาเรียกปัญหานี้ว่า 2 Sigma problem และเจ้าเทคโนโลยี AI นี่เองที่จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้เนื่องจากข้อจำกัดที่ไม่สามารถจัดหาครูได้มากเท่ากับจำนวนนักเรียน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีแล้วโดยสถาบันการศึกษาที่ชื่อ Khan Academy ได้ผลิต แชตบอตที่ชื่อ Khanmigo ขึ้นมาซึ่งก็คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ AI ตอบโต้กับคนในลักษณะการสอนหนังสือได้ซึ่ง AI ตัวนี้ต่างจากตัวอื่นๆ ตรงที่ถูกออกแบบมาให้เป็นครูดังนั้นจึงมีวิธีการสอน การกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและรู้จักการนำไปใช้ประโยชน์ มากกว่าการท่องจำหรือคัดลอกไปใช้งาน
จริงๆ
เราควรรู้จัก AI ใน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า Curative AI คือพวกที่ออกแบบมาเพื่อสะกดให้คนอยู่กับหน้าเพจให้นานที่สุด ดังนั้น AI จะป้อนสิ่งที่อยู่ในความสนใจเข้ามาที่หน้าจอของเราอย่างไม่หยุดยั้ง ใครชอบอะไรก็จะได้เห็นอยู่แบบนั้น นานๆ เข้าโลกทัศน์ก็จะแคบลงๆ ไม่ยอมรับอะไรที่แตกต่าง ทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย AI อีกประเภทหนึ่งจะเหนือกว่ากลุ่มแรกตรงที่มันสามารถเรียนรู้เราได้อย่างลึกซึ้งก่อนที่จะผลิตเนื้อหาออกมาเพื่อโน้มน้าวให้เราคล้อยตาม จึงเรียกมันว่า Generative AI ประเภทหลังนี้จึงมีอันตรายมากกว่าประเภทแรกเพราะสามารถผลิตสิ่งใหม่ที่ปลอมทุกอย่างได้อย่างแนบเนียน
ความน่ากลัวของ AI ก็คือเมื่อสร้างมันขึ้นมาแล้วมันก็จะมีอิสระและมีความเร็วในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถทำงานได้ทุกสถานที่ทุกเวลาอย่างไม่มีข้อจำกัดทำให้การควบคุมแทบจะทำไม่ได้หรือทำไม่ทัน ดังนั้นผู้ที่สร้างมันขึ้นมาจึงต้องมีความรับผิดชอบในการสร้างระบบการควบคุมด้วย
การที่คณะกรรมาธิการยุติธรรมของสภาคองเกรสเรียก CEO ของ 5 แพลตฟอร์มยักษ์ อย่าง เมตตา (เฟซบุ๊ก) ,ติ๊กต็อก ,เอ๊กซ์ ,สเเนป และดีสคอร์ด มาให้ถ้อยคำเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็เพื่อตอกย้ำให้บริษัทเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบที่มากขึ้นกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน วุฒิสมาชิกบางคนใช้ถ้อยคำรุนแรงเปรียบเทียบ CEO เหล่านี้เหมือนมือที่เปื้อนเลือดไม่ต่างจากบริษัทขายบุหรี่ บางคนเรียกร้องให้มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ขอโทษต่อหน้าครอบครัวที่ญาติพี่น้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ทั้งนี้เมื่อปี 66 พบว่ามีภาพและวิดีโอ 105 ล้านชิ้นในสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเพศกับเด็ก
จนมีผู้สรุปได้ว่าสื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้คือต้นเหตุของภาวะวิกฤติทางสุขภาพจิตของเด็กในขณะที่สื่อเหล่านี้ก็พยายามชี้แจงว่าได้ลงทุนจำนวนมากในการจ้างคนเฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามยังไม่มีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเฟสบุ้คเองก็มาให้ถ้อยคำแบบนี้มามากกว่า 30 ครั้งแล้วทั้งในบทบาทที่เกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งหรือการจลาจลบุกยึดอาคารรัฐสภาเมื่อปี 64 ก็ยังไม่มีการออกกฎหมายใดๆ มาควบคุมสื่อแหล่านี้ได้
สำหรับประเทศไทยเรา รายงานของโกลบอลโอเวอร์วิวรีพอร์ต ของดาต้ารีพอร์ตทัล เมื่อมกราคม 67 บอกว่าคนไทยใช้อินเทอร์เนตเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง คิดเป็นเวลากับโซเชียลมิเดียเฉลี่ยวันละ 2.31 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกคือ 2.33 อยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก และคนไทย 49 ล้านคนใช้เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก 44.3 ล้านคน เอ็กซ์ 14.6 ล้านคน
นอกจากนี้คนไทยยังเป็นผู้นำในการช้อปปิ้งออนไลน์โดยผู้ใช้อินเทอร์เนตร้อยละ 70 อายุระหว่าง 16-64 สั่งซื้อของออนไลน์ในแต่ละสัปดาห์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตคนไทยตอนนี้แยกไม่ออกจากโลกออนไลน์ ตื่นเช้าขึ้นมายังไม่ทันลุกจากที่นอนก็จะคว้ามือถือมาเช็คดูข่าวสารก่อน เรียกว่าติดกันงอมแงม เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกโยนเข้าไปอยู่ในออนไลน์ อัตราการเกิดอาชญากรรมออนไลน์ย่อมพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอาชญกรรมกับเด็กและเยาวชนที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่
ในระยะหลังๆ มา เมืองไทยเราตื่นตัวมากขึ้นกับข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมวัยเด็กและเยาวชนซึ่งอันที่จริงแล้วน่าจะมีที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม และโซเชียลมีเดียก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งในขณะที่ผู้บริหารของแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เด็กเข้าไปใช้ยังไม่มีมาตรการป้องกันภัยคุกคามต่อเด็กที่ดีพอ ครอบครัวก็ต้องเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลในส่วนนี้ก่อน
ความรุนแรงในทางการเมืองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดจากการที่อินฟลูเอนเซอร์เอาความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันทางการเมืองผลักลงไปในโลกออนไลน์อย่างไร้ความรับผิดชอบ คำพูดที่ปลุกเร้าเพียงประโยคเดียวกันแต่คนฟังที่เป็นผู้ใหญ่กับเยาวชนก็จะเอาไปแปลงให้เป็นการกระทำที่แตกต่างกันตามวุฒิภาวะ และเมื่อเกิดผลของการกระทำขึ้นมา คนที่ต้องรับผิดรับโทษมักเป็นผู้ที่ขาดวุฒิภาวะขาดประสบการณ์ในตอนนั้น ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ไม่มีอะไรเอาผิดเขาได้เลย
ความรู้ที่ยังมีไม่พอ ย่อมไม่ก่อปัญญาและอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องใช้เวลาสะสม หมายความว่าต้องมีอายุที่มากขึ้น ก็คือต้องเรียนรู้ประสบการณ์ไปตามระบบธรรมชาติ อย่าเชื่อในการ “ปลูกฝัง” ที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับอุดมคติที่ไม่มีจริง แต่ควรเชื่อในกฎของธรรมชาติ เรียนรู้อย่างเปิดกว้าง สะสมความรู้ด้วยตัวเองก็จะมีสติปัญญาเป็นที่พึ่งของตัวเองในการตัดสินใจดำเนินชีวิตที่ดีต่อไป
Credit : TB-TALK Facebook