ช่วงนี้มี 2 เหตุการณ์ที่ชวนให้คนคิดว่าสงครามรัสเซียกับยูเครนมีโอกาสยกระดับขึ้นเป็นสงครามนิวเคลียร์หรืออาจเลยเถิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เชียวหรือ? เรื่องมันเริ่มจากเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสออกมาพูดว่าจะไม่ตัดทิ้งทางเลือกที่จะส่งกองกำลังของประเทศตะวันตกเข้าไปช่วยยูเครน พูดเท่านั้นคนก็ตกใจกันใหญ่ว่านาโต้จะรบกับรัสเซีย !?! ซึ่งยังไม่ทันไรก็มีเสียงค้านทันทีจากอังกฤษ เยอรมันและฝ่ายค้านของฝรั่งเศสจนมาครงเองต้องออกมาแก้เกี้ยวว่าเป็นความเห็นและการหยั่งเชิง ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นมติของนาโต้ที่จะส่งทหารไปรบหากแต่เป็นเพียงการฝึกอบรม แต่ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง SVR ของรัสเซีย หรืออดีต KGB ก็ออกมาสวนกลับว่าการพูดของมาครงเป็นความไม่รับผิดชอบและเป็นอันตรายอย่างยิ่งซึ่งนัยยะหมายถึงรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้หากว่านาโต้ใช้กำลังรบช่วยยูเครนตามที่ประธานาธิบดีปูตินเคยบอกไว้ว่าเมื่อนั้นก็จะถึงจุดจบของอารยธรรม
อยากจะอธิบายกันสักหน่อยว่าตอนนี้สถานะการทำสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นที่รู้กันดีว่ายูเครนก็คือตัวแทนของยุโรปถ้าเป็นอะไรไป หยิกเล็บย่อมเจ็บเนื้อ ดังนั้นผู้นำประเทศใหญ่อย่างฝรั่งเศสจึงต้องออกมาแสดงบทบาทอะไรบ้าง ในทางยุทธวิธียูเครนยังไม่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบของรัสเซียได้จึงสูญเสียพื้นที่ไปเรื่อยๆ ตลอด 2 ปีของการบุกยูเครน ในช่วงเข้าปีที่ 3 นี้เชื่อว่ารัสเซียอาจกลับไปพยายามเข้ายึดครองกรุงเคียฟเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเซเลนสกี้ออกไปแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าหากว่ายังมีการสนับสนุนยุทโธปกรณ์จากภายนอกยูเครนก็น่าจะต้านทานรัสเซียต่อไปได้
นอกจากนั้นรัสเซียยังมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นปกติ เติบโต 2-3% มีเงินเฟ้อบ้างแสดงว่าการปิดล้อมแซงชั่นของตะวันตกทำอะไรรัสเซียไม่ได้เพราะมีการเตรียมตัวสร้างเครือข่ายไว้อย่างดีทำให้การค้าขายพลังงานยังทำได้ตามปกติ
ภาพของสงครามรัสเซียกับยูเครนตอนนี้ผู้ที่อยู่ข้างหลังยูเครนคือยุโรปกับสหรัฐ แต่ปัจจัยที่ทำให้การสนับสนุนยูเครนจากภายนอกดูแผ่วลงไปเกิดขึ้นจาก
1.สหรัฐ ไม่ผ่านงบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนยูเครนเพราะในสภาล่างตอนนี้เสียงข้างมากเป็นของรีพับลิกันคนละฝ่ายกับรัฐบาล ที่หนักกว่านั้นมีโอกาสสูงมากที่ปลายปีนี้โดนัลด์ ทรัมพ์ จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้น การสนับสนุนยูเครนของสหรัฐจะสิ้นสุดลงตามที่ทรัมพ์ประกาศไว้ นอกจากนั้นทรัมพ์ยังบ่นใส่สมาชิกนาโต้ในยุโรป (อย่างเช่นเยอรมัน) ที่ไม่ยอมเพิ่มงบป้องกันประเทศให้ครบ 2% ของ GDP ตามที่ตกลงกันไว้พร้อมกับขู่ว่าจะไม่ช่วยเหลือใดๆ หากว่าถูกรัสเซียโจมตี
2.สหภาพยุโรปเริ่มไม่เป็นเอกภาพกับนาโต้ เนื่องจากระยะหลังฝ่ายขวาได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสหภาพยุโรปมากขึ้น พวกนี้เดิมจะเป็นพันธมิตรกับปูตินแต่หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนก็เริ่มเห็นต่างแต่ก็ยังไม่ค่อยสนับสนุนให้เอางบประมาณของยุโรปไปสนับสนุนการทำสงครามกับรัสเซีย ในขณะที่การส่งอาวุธให้ยูเครนก็ถูกสกัดโดยรัสเซียโดยด้านหนึ่งปล่อยข่าวออกไปว่ากองทัพเยอรมันจะส่งขีปนาวุธ Tourus ให้กับยูเครนเพื่อใช้ถล่มสะพานจากไครเมียเข้าสู่ยูเครนอีกด้านหนึ่งก็ออกมาพูดขู่ว่าหากเยอรมันส่งขีปนาวุธให้ยูเครนก็จะถูกรัสเซียกำหนดเป็นเป้าหมายด้วยทำให้รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจระงับการส่ขีปนาวุธดังกล่าวในที่สุด ทั้งเยอรมันและฝรั่งเศสมีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์รวมแล้วหลายร้อยลูกแต่เทียบไม่ได้กับรัสเซียที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 พันลูก แต่เกิดรบกันขึ้นมาจริงๆ ยิงกันเพียงไม่กี่ลูกก็ย่อยยับด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดน นับเป็นสมาชิกล่าสุดรายที่ 32 ถัดจากฟินแลนด์ ซึ่งเพิ่งจะมีการชักธงชาติสวีเดนขึ้นสู่ยอดเสาที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้เพราะต้องการวางตัวเป็นกลางมาเป็นร้อยปีแต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าเป็นพันธมิตรเพราะเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครนแต่ต้องใช้เวลาเป็นปีในกระบวนการเข้าสู่สมาชิกภาพ
แม้ว่ากองทัพของสวีเดนจะมีขนาดเล็กแต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้าสามารถเสริมศักยภาพด้านการสู้รบของนาโต้ได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความมั่นคงบริเวณทะเลบอลติกทางเหนือเขตติดต่อกับรัสเซียและเบลารุสรวมทั้งพื้นที่แคว้นคาเลนินกราดที่เป็นส่วนแยกของรัสเซียที่อยู่ในวงล้อมของกลุ่มประเทศทะเลบอลติก
สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนนับจากนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไป รัสเซียได้เปรียบเพราะสหรัฐลดทอนการสนับสนุนลงไปโดยเฉพาะหากทรัมพ์ได้ขึ้นมาปลายปีนี้ นาโต้ก็จะอ่อนแอลง ส่วนยุโรปคงจะปล่อยมือจากยูเครนไม่ได้แต่ก็พึ่งสหรัฐไม่ได้เช่นกัน ผลคือต้องพึ่งตัวเองและจะต้องแพคกันให้แน่นขึ้นอย่างน้อยยุโรปก็รอดพ้นจากภาวะที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียได้ อย่างไรก็ตามทั้งยุโรปและรัสเซียต่างก็ทราบดีถึงหายนะที่ทั้งคู่จะได้รับจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ท่าทีใดๆที่แสดงออกมามักจะเป็นไปเพื่อข่มขู่อีกฝ่ายกับเพื่อเอาใจประชาชนเพื่อผลทางการเมืองมากกว่า
Credit : TB-TALK Facebook