วันที่ 30 กันยายน นี้ สวีเดนจะปิดสำนักงานการทูตในพนมเปญ..อาจฟังดูไม่สำคัญอะไร แต่ถ้าบอกว่าสำนักงานการทูตที่ว่าก็คือสถานทูตที่ถูกลดระดับลงมาเหลือเพียงสำนักงาน แล้วนี่จะมาปิดสำนักงานอีก..มันเรื่องอะไรกัน ..น่าสนใจใช่มั้ย
ปกติการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเขาจะไม่ทำกันถ้าไม่มีเรื่องใหญ่จริงๆ ที่ทำให้ไม่พอใจกันทางการเมือง แล้วเรื่องที่ว่ามันคืออะไร?
สวีเดนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชามาตั้งแต่ปี 2522 หลักๆ ก็เป็นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนาประชาธิปไตย ประมาณว่าตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2560 ได้ให้เงินช่วยเหลือกัมพูชาไป 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเมื่อมิถุนายน 2563 จึงได้ประกาศตัดความช่วยเหลือด้านการศึกษา การกระจายอำนาจและสภาพแวดล้อม และจะค่อยๆ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลงไปจนกระทั่งเดือนธันวาคม 2564 จึงได้ปรับลดสถานะสถานทูตสวีเดนในกรุงพนมเปญเหลือเพียงสำนักงานโดยให้ขึ้นการดูแลกับสถานทูตสวีเดนที่กรุงเทพ และล่าสุดก็จะปิดสำนักงานนี้ลงอีก
อาการแบบนี้ สวีเดนในฐานะผู้ให้ต้องไม่พอใจอะไรกัมพูชาเป็นแน่ แต่ก็ไม่ได้แถลงอะไรที่เป็นทางการถึงเหตุผลในการปรับลดความสัมพันธ์กับกัมพูชา โดยเพียงแต่พูดถึงการที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับสงครามรัสเซียกับยูเครนซึ่งถือว่าใกล้ยุโรปมากกว่าก่อน นอกจากนั้นสวีเดนยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยอ้างสถานการณ์โควิด แต่ตามข้อเท็จจริง สวีเดนเป็นเบอร์ 3 ในชาติยุโรปรองจากฝรั่งเศสและเยอรมันที่ควักเงินช่วยเหลือกัมพูชา ดังนั้นอยู่ๆ จะมาช็อตเงินเอาดื้อๆ มันไม่น่าใช่ แล้วทำไมต้องเป็นกัมพูชาด้วยที่ถูกตัดความช่วยเหลือ
ในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เราเลือกได้ว่าจะเอาแบบไหน แบบ “ผู้ให้กับผู้รับ” (Donor and Recipient) หรือ “หุ้นส่วนที่เท่าเทียม” (Equal Partnership) ถ้าเลือกความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม เราจะมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่รับอะไรจากใครฟรีๆ แต่จะต้องตอบแทนให้หุ้นส่วนของเราด้วยประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน แต่ถ้าหากเราเลือกที่จะเป็น “ผู้รับ” ก็แน่นอนว่าต้องเกรงใจและฟังเสียง “ผู้ให้” ก่อนเป็นธรรมดา ระดับความสัมพันธ์ย่อมไม่เท่าเทียมกัน
กรณีนี้ก็เช่นกัน …จริงอยู่..กัมพูชาเป็นประเทศเอกราช มีอธิปไตยของตัวเอง การจะรับหรือไม่รับความช่วยเหลือใดย่อมเป็นสิทธิเด็ดขาด แต่หากเลือกที่จะเป็น “ฝ่ายรับ” เขามาตลอด 40 ปีก็คงต้องฟังเสียงและยอมรับในอิทธิพลของเขาบ้าง หมายความว่าหากกัมพูชาเลือกรับความช่วยเหลือเป็นตัวเงินจากสวีเดนและชาติตะวันตกทั้งหลายก็ต้องยอมให้เขาเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐบาลและประชาชนของตัวเองผ่านเม็ดเงินที่เขาให้มา ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ที่ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากตะวันตกแต่พยายามมายัดเยียดให้คนตะวันออกยอมรับแล้ววันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่าแม้แต่ประเทศตะวันตกเองก็มีปัญหากับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ตนเองคิดขึ้นมาแต่นำไปใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ สังคมตะวันตกทุกวันนี้ใครสนับสนุนค่านิยมขวาจัดและเผด็จการจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่าพวกที่สนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย การเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เหยียดเพศ มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น
คนตะวันออกเชื่อในค่านิยมแห่งคุณงามความดีที่สั่งสอน และสั่งสมกันมา เนื่องจากคำสอนเหล่านี้มาจากประสบการณ์ชีวิตจึงปรับใช้ได้กับชีวิตจริง คำสอนของนักปรัชญาตะวันออกล้วนแล้วแต่สอนให้คนมีชีวิตและอยู่ได้โดยปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ในขณะที่ตะวันตกสอนให้คนพิสูจน์ความจริงก่อนเชื่อกับสนับสนุนให้คนควบคุมธรรมชาติมากกว่าอยู่กับธรรมชาติ
ต่อไปโลกจะไม่แบ่งกันด้วยความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเท่านั้นแต่จะแบ่งด้วยค่านิยมและความเชื่อในการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
กลับมาสู่เรื่องกัมพูชากับสวีเดน แม้ว่ากัมพูชาจะทรงสิทธิที่จะปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศใดก็ได้ตราบเท่าที่ไม่เข้ามาละเมิดอธิปไตยหรือแทรกแซงกิจการภายในของเขาแต่ที่เราต้องรู้เหตุผลก็เพื่อเข้าใจว่าเกมของมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้เพื่อที่เราจะได้เลือกเดินให้ถูกที่ถูกทาง
เหตุผลหลักที่สวีเดนลดความช่วยเหลือกัมพูชาเพราะไม่พอใจรัฐบาลฮุนเซนตอนนั้นที่ไปยุบพรรคฝ่ายค้านหลักคือพรรค CNRP หรือ Cambodia National Rescue Party แถมยังจับตัวหัวหน้าพรรคคือนายกิม สุขา ในข้อหาเป็นกบฏต่อรัฐทำให้รัฐบาลฮุนเซนสามารถสืบทอดอำนาจออกไปได้อีกโดยไม่มีฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ แล้วสวีเดนจะมาเดือดร้อนอะไรกับการเมืองในกัมพูชา ก็ต้องบอกว่าไม่แต่เฉพาะสวีเดนแต่ชาติยุโรปอื่นเขามองกัมพูชาว่ามีสถานการณ์ 3 ด้านที่เลวร้ายลง คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ ซึ่งถ้าขาด 3 สิ่งนี้ประเทศก็พัฒนาต่อไปได้ลำบาก ไม่เพียงแต่สวีเดนเท่านั้นแม้แต่สหรัฐ ก็ตัดงบช่วยเหลือการเลือกตั้งพร้อมกับลดระดับกิจกรรมทางการทูตกับกัมพูชาลง
การที่สวีเดนไม่พอใจกัมพูชานั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการเมืองภายในของกัมพูชาที่มีการสืบทอดอำนาจแบบผูกขาดโดยไม่นำพาระบบการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ยังมีเรื่องสำคัญกว่านั้นคือการที่กัมพูชาไปใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมให้จีนเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างไม่มีการแข่งขัน เช่น ท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้า โรงพยาบาล กาสิโน สนามบินนานาชาติ โดยโครงการที่โด่งดังมากคือ ดาราสาคร หรือดาราสกอร์ รีสอร์ต กับเมืองท่องเที่ยวสีหนุวิลล์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตกลงที่กัมพูชาเป็นพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ BRI อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสีจิ้นผิงในการขยายอิทธิพลของจีนลงมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไปทั่วโลก
นอกจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้ว ในด้านการทหารการที่กัมพูชายอมให้จีนเข้ามาครอบครองท่าเรือน้ำลึกเรียมย่อมส่งผลต่อการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีนในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลจีนใต้ประจวบกับการให้จีนมาลงทุนในการขุดคลองฟูนันเตโชเพื่อขยายเส้นทางจากแม่น้ำโขงลงสู่ทะเลที่อ่าวไทยถือเป็นการเติมเต็มยุทธศาสตร์ทางการทหารปูทางให้จีนส่งกำลังทหารเข้ามาประจำถิ่นได้ในโอกาสข้างหน้าโดยประเทศที่เป็นแต่ “ผู้รับ” อย่างกัมพูชาจะไม่สามารถคัดค้านอะไรได้เลย
การที่สวีเดนระงับความช่วยเหลือและลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา กับการที่สหรัฐระงับความช่วยเหลือ ระงับการออกวีซ่าให้กับคนกัมพูชาบางคนพร้อมกับวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาไม่เสรี ไม่ยุติธรรม ไม่โปร่งใส คงเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าประเทศตะวันตกเริ่มขยับท่าทีไปในทิศทางที่กำราบกัมพูชามากขึ้นเพื่อไม่ให้ยอมเป็นเบี้ยให้จีนขยายอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคมากเกินไป อันนี้ยังไม่รวมเมียนมากับลาวที่ต่อไปจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน
ในภูมิภาคแห่งนี้จึงเหลือเพียงไทยกับเวียดนาม ที่ยังแข็งในท่าทีที่เป็นกลางไม่เข้าข้างมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐ อย่างออกหน้าออกตา ซึ่งเป็นท่าทีที่ถูกต้องแล้ว แต่รัฐบาลจะต้องยืนหยัดในการรักษาสมดุลไว้ให้ได้ ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ผู้นำของเราจะต้องมีความรู้ในด้านการเมืองระหว่างประเทศให้เพียงพอที่จะเท่าทันเกมของต่างชาติ แม้ว่าจะมีทีมงานที่ดีแต่ผู้นำเองก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับประชาคมนานาชาติเขาด้วย สมัยนายกเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว จำได้ว่างานแรกๆ ที่ไปคือเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ แต่ในปีนี้เราไม่เห็นนายกอุ๊งอิ๊งไปประชุมแต่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปแทน จึงเป็นที่น่าเสียดายที่เสียโอกาสในการเปิดตัวกับเวทีระดับโลก เพื่อยืนยันท่าทีของไทยที่จะก้าวเดินท่ามกลางกระแสความขัดแย้งในโลก
ได้แต่หวังว่าในเวทีอาเซียน หรือต่อๆ ไป จะได้เห็นฝีไม้ลายมือด้านการต่างประเทศของนายกไทยบ้าง ใครจะรู้ว่า ในอนาคตไม่ไกลนี้ประเทศรอบๆ บ้านเราอาจกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ เพิ่มเติมจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย และอิสราเอลกับฮามาสในปาเลสไตน์และฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
หรือ ..จะเดินอย่างเขมร