รมว.กต.อิสราเอลประกาศเมื่อ 5 ก.พ.68 ว่า อิสราเอลจะถอนตัวจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ความร่วมมือในกรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) เนื่องจากเห็นว่า UNHRC มีนโยบายเลือกปฏิบัติและเกลียดชังชาวยิว รวมทั้งมุ่งโจมตีอิสราเอลอย่างชัดเจน ที่เห็นได้ชัด คือ UNHRC มีมติประณามนโยบายของอิสราเอลมากกว่า 100 ครั้ง มากกว่าเกาหลีเหนือ คิวบา และอิหร่าน ทั้งที่อิสราเอลเป็นประชาธิปไตย อิสราเอลจึงจะไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติดังกล่าวอีกต่อไป
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 4 ก.พ.68 ว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวจาก UNHRC ทั้งนี้ อิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่มีสถานะเป็นสมาชิกของ UNHRC ตั้งแต่ต้น แต่เป็นผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากเป็นประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 สหรัฐฯ เคยถอนตัวจาก UNHRC แล้ว เพื่อตอบโต้ที่องค์กรดังกล่าวมีอคติต่ออิสราเอล และสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์สมัยประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน
สำหรับผลการหารือระหว่างผู้นำอิสราเอลกับผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 5 กพ.68 ทำให้ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่พอใจ เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ แสดงออกว่าสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นออกจากฉนวนกาซา สื่อรายงานเมื่อ 6 ก.พ.68 ความเห็นของชาอิสราเอลส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82 ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า สนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นออกจากฉนวนกาซา แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงและประณามจากประเทศในตะวันออกกลาง เพราะจะเป็นโอกาสให้อิสราเอลยึดครองพื้นที่และเป็นภัยคุกคามกับประเทศอื่น ๆ กลุ่มฮะมาสระบุว่าท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศผู้ประสานงานให้ความสำคัญกับการมุ่งมั่นสนับสนุนการเจรจาต่อไป โดยไม่ถูกชี้นำหรือไขว้เขวจากการยั่วยุหรือการแทรกแซง
แม้ว่าการหารือกับสหรัฐฯ จะทำให้ทั่วโลกวิจารณ์ความเห็นของผู้นำสหรัฐฯ เชิงลบ แต่การหารือครั้งนี้ทำให้อิสราเอลพร้อมเจรจากับกลุ่มฮะมาสในการทำข้อตกลงระยะที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันเพิ่ม และช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ปัจจุบัน กลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกันแล้ว 18 คน แลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ สำหรับข้อตกลงระยะแรก มีช่วงเวลา 6 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ 19 ม.ค.68
การที่ผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่อาจทำให้บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้น เนื่องจากพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางไม่ต้องการให้อิสราเอลกลับไปโจมตีฉนวนกาซาอีก รวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป ที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (two-states solution) ที่ให้รัฐอิสราเอลอยู่กับรัฐปาเลสไตน์ โดยรัฐปาเลสไตน์มีสถานะเป็นอิสระ ซึ่งเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ เคยสนับสนุน พร้อมกับส่งสัญญาณว่านานาชาติพร้อมช่วยเหลือการฟื้นฟูสภาพฉนวนกาซาหลังสงคราม เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์กลับไปอยู่อาศัยได้อีกครั้ง สำหรับการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐเป็นแนวทางสร้างสันติภาพที่สหประชาชาติผลักดัน แต่มีประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ ได้แก่ เรื่องพรมแดน สถานะของเมืองเยรูซาเล็ม การจัดการผู้อพยพและผู้ชี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในอิสราเอล และความมั่นคงของทั้ง 2 รัฐ