ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึงมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มากกว่าชนชั้นวัยแรงงาน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะกลุ่มวัยแรงงานมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มคนที่ต้องการการดูแล เพราะนอกจาก Aging Society จะหมายถึงการมีประชาชนเป็นวัยชรามากขึ้นแล้ว ยังมีอัตราการเกิดที่ต่ำลงด้วย รูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ภูมิภาคเอเชียต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็วฉับพลัน ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นความท้าทายสำคัญ จนนักวิชาการในต่างประเทศเรียกการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อความมั่นคงโลกนี้ว่า “Silver Tsunami” หรือคลื่นสึนามิสีเงิน..
สภาวะดังกล่าวทำให้ทางสังคมไทยเสี่ยงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาแรงงาน เศรษฐกิจ การพัฒนาสวัสดิการสังคมและโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น
รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เตรียมการสร้างระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี ที่มีกฎหมายรวมทั้งนโยบายดูแลผู้สูงวัยครอบคลุมในด้านของสุขภาพ การเงิน และอยู่อาศัย เช่น ญี่ปุ่นออกกฎหมายชื่อ “Kaigo Hoken Seido” ตั้งแต่ปี 2540 ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้กลไกภาษีรับมือกับสังคมผู้สูงอายุประมาณ 35 ล้านคน โดยประชากรอายุครบ 40-64 ปี จะต้องเสียภาษีรายเดือนในอัตรา ร้อยละ1.6 เพื่อสมทบกองทุนที่จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ ภาษีรายเดือนนี้จะสมทบกับภาษีอื่น ๆ ในท้องถิ่นอีกร้อยละ 50 เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดูแลคนชรา …
ในขณะที่ประเทศในยุโรปจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความดูแลผู้สูงอายุถึงที่บ้าน หรือหากผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้จะมีศูนย์ดูแลหรือบ้านพักคนชรา เพื่อประกันว่าจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เช่น ที่สวีเดน การดูแลผู้สูงอายุจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริการสังคม โดยจะถือว่าเป็นความรับผิดชอบสำคัญของเทศบาลที่จะบริหารงบประมาณจากภาษีและความช่วยเหลือของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุให้เต็มที่
สำหรับประเทศไทย ก็มีนโยบายดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้ตอบโจทย์โครงสร้างสังคมแบบใหม่เช่นกัน นโยบายที่เห็นได้ชัด คือ การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งแม้ว่าจะช่วยผ่อนปรนภาวะค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุได้ แต่เบี้ยยังชีพดังกล่าวยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 600 – 1,000 บาทต่อเดือน (ค่าครองชีพเฉลี่ย 8,000 บาท) นอกจากนี้ กระบวนการเข้าถึงความช่วยเหลือเหล่านี้ก็ยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อนจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการดูแลผู้สูงอายุของไทย
ความสมดุลของประชากรเพศชาย-หญิง (sex-ratio imbalance) ใน Aging society เป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน ปัจจุบันไทยมีประชากรหญิง 33.4 ล้านคน และชาย 34.1 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันมากขึ้น และแน่นอนว่า…ความแตกต่างเรื่องเพศเกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจีนที่ประชากรเพศชายมีมากกว่าหญิงจากนโยบายลูกคนเดียวในอดีต และค่านิยมที่ให้คุณค่ากับลูกชาย ส่งผลให้ชายชาวจีนจำนวนมากที่มีสถานะเป็น “bare branches” หรือ “กิ่งไม้ที่ไร้ใบ” ที่ไม่สามารถหาคู่ในประเทศ ต้องมองหาในต่างประเทศ เพื่อสร้างครอบครัว อันเป็นค่านิยมในอุดมคติของชาวจีน ซึ่งหญิงสาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เป็นเป้าหมายด้วย ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นฐาน และขณะเดียวกันก็เสี่ยงทำให้เกิดการค้ามนุษย์ (Bride Trafficking) สิ่งนี้เป็นเพียงผลกระทบบางส่วนที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และส่งผลต่อการเปลี่ยนเชื้อชาติ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การลงทุน และอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมข้ามชาติ
ความท้าทายเรื่องโครงสร้างประชากรจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เทคโนโลยีอาจช่วยได้ ไม่ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ชีววิทยา หรือการแพทย์ เพื่อเสริมให้การดูแลยูสูงอายุ รวมทั้งวัยแรงงานได้เหมาะสมมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และความรู้ด้านการชะลอวัย ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น การมีเครื่องมือตรวจวัดสารเคมีในร่างกายและสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย หรือแม้กระทั่งมีบริการให้ที่บ้าน โดยรัฐสนับสนุนและอำนวยความสะดวก รวมทั้งเข้าถึงบริการการปรึกษากับแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมของร่างกายในแต่ละวัย และมีเทคโนโลยีช่วยให้การบริโภคอาหารของกลุ่มประชากรช่วงวัยต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น …การใช้ความรู้และวิธีการต่าง ๆ นี้อาจช่วยลดภาระของรัฐที่ต้องดูแลประชาชนกลุ่มคนชราได้ เนื่องจากข้อมูลและเทคโนโลยีเรื่องสุขภาพช่วยให้มนุษย์มีความพร้อมดูแลตัวเองมากขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงได้นั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางพันธุกรรมที่ช่วยให้คนหนุ่มสาวที่มีบุตรยาก สามารถมีบุตรได้มากขึ้น และสามารถคัดเลือกพันธุกรรมเพื่อสร้างบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือลักษณะตามที่ต้องการได้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูง และเข้าถึงยากสำหรับคนทั่วไป หากรัฐบาลเพิ่มความสำคัญและมีมาตรการสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น ก็อาจช่วยลดปัญหาได้ทั้งเรื่องประชากรและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
หากไม่มีการเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและกฎหมายล่วงหน้าให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ความท้าทายดังกล่าวก็อาจทวีความรุนแรงไปเป็นปัญหาและวิกฤตทางสังคมอื่น ๆ ที่รุนแรงมากขึ้นตามมา มีงานวิจัยประเมินไว้หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ว่า “Silver Tsunami” หรือคลื่นสึนามิสีเงินจะทำให้ทั่วโลกขาดแคลนจำนวนแรงงาน พร้อมกับขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพด้วย
รัฐบาลและภาคเอกชนควรร่วมมือกันดึงดูดผู้เกษียณที่มีความสามารถกลุ่มนี้กลับมาสร้างสรรค์ผลงานในตลาดแรงงานกันอีกครั้ง และแน่นอนว่าเมื่อใส่ใจผู้สูงอายุแล้ว ก็ต้องไม่ลืมประชากรกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ด้วย เพราะประชากรรุ่นใหม่คือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป เพราะฉะนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตและอยู่ร่วมกันระหว่างประชากรที่มีอายุและเพศที่แตกต่างกันอย่างมีคุณภาพ น่าจะเป็นขั้นตอนแรกที่รัฐสามารถสนับสนุนให้กับประชาชนได้