สำนักข่าว The Irrawaddy รายงานเมื่อ 1 ก.พ.66 ว่า สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ขยายเวลาบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) ออกไปอีก 6 เดือน (ระหว่าง 1 ก.พ.-31 ก.ค.66) จากผลการประชุมสภากลาโหมฯเมื่อ 31 ม.ค.66 เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมายังอยู่ในภาวะไม่ปกติ (extraordinary situation) จากการก่อเหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย (นัยถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) คณะกรรมการผู้แทนรัฐสภา (CRPH) และกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF)) ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตกเป็นเป้าโจมตีมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการจัดการเลือกตั้งหลังจากสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน (ตั้งแต่ ส.ค.66) ทำให้การเลือกตั้งอาจล่าช้าออกไป
ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเมียนมารับรองให้การขยายเวลาครั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2551 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 425 ที่ให้สภากลาโหมฯ ขยายเวลาได้หากผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.)รายงานเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขยายเวลา ทั้งนี้ มาตรา 419 กำหนดให้ ผบ.ทสส. เป็นผู้คุมอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ ผบ.ทสส.ยังคงมีอำนาจสูงสุดในเมียนมา
Credit Pic : ndtv.com